งานระบบเครือข่ายและบริการอินเทอร์เน็ต
Networking Systems and Internet Services
ยอดจอง "iPhone 4S" ทะลุล้านใน 24 ชั่วโมง
แอปเปิล (Apple) ประกาศยอดสั่งจองสมาร์ทโฟนใหม่ล่าสุด iPhone 4S ทะลุหลัก 1 ล้านเครื่องในเวลา 24 ชั่วโมงแรกหลังการเปิดจองใน 7 ประเทศเมื่อวันที่ 7 ตุลาคมที่ผ่านมา ลบสถิติทุกสินค้าใหม่ที่แอปเปิลเคยเปิดตัว รวมถึง iPhone 4 ที่เคยทำไว้ในปีที่แล้ว        7 ประเทศที่แอปเปิลเปิดให้สั่งจองไอโฟนรุ่นใหม่ล่าสุดเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาได้แก่ สหรัฐฯ ออสเตรเลีย แคนาดา ฝรั่งเศส เยอรมนี ญี่ปุ่น และอังกฤษ โดยฟิลิป สคิลเลอร์ (Philip Schiller) รองประธานอาวุโสแอปเปิลแถลงการณ์ว่า iPhone 4S สามารถสร้างสถิติยอดจองมากที่สุดในวันแรกเหนือกว่าผลิตภัณฑ์ใดที่บริษัทเคยเปิดตัวมา โดยโอเปอเรเตอร์ผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือทั่วโลกซึ่งเป็นพันธมิตรในการจำหน่ายไอโฟน ยืนยันตรงกันว่าผู้บริโภคหลายหมื่นคนลงทะเบียนเพื่อจองไอโฟนรุ่นล่าสุดมากกว่าไอโฟนทุกรุ่นที่แอปเปิลเคยเปิดตัว        iPhone 4 ที่แอปเปิลเปิดตัวไปในปีที่แล้ว มีสถิติการสั่งจองวันแรกที่ 600,000 เครื่อง ครั้งนั้นประเทศอย่างออสเตรเลียและแคนาดาไม่ได้ถูกบรรจุให้เป็นประเทศกลุ่มแรกของโลกที่มีการวางจำหน่ายไอโฟน จุดนี้คือหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้ iPhone 4S ทำสถิติยอดสั่งจองที่สูงกว่า ทั้งที่มีเสียงวิจารณ์ว่าไอโฟนรุ่นใหม่ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างที่หลายคนคาดหวัง        iPhone 4S นั้นได้รับการการันตีว่ามีความเร็วหน่วยประมวลผลและมีประสิทธิภาพด้านการถ่ายภาพทั้งวิดีโอและภาพนิ่งที่สูงกว่า iPhone 4 ผลจากคุณสมบัติใหม่อย่างชิป A5 ดูอัลคอร์ซึ่งแอปเปิลนำมาติดใน iPad แล้วแต่พัฒนาให้มีความสามารถในการประหยัดพลังงานมากกว่าเดิม จนทำให้ไอโฟนรุ่นใหม่ล่าสุดสามารถสนทนาต่อเนื่อง 8 ชั่วโมงได้บนระบบ 3G ขณะเดียวกันก็สามารถดาวน์โหลดข้อมูลความเร็วสูง 14.4 เมกะบิตต่อวินาที ซึ่งเทียบเท่ากับสมาร์ทโฟนเทคโนโลยี "4G" หลายรุ่นในตลาดขณะนี้ สำหรับประเทศไทย iPhone 4S มีกำหนดเริ่มจำหน่ายเป็นกลุ่มที่ 3 คาดว่าจะเป็นช่วงปลายปีนี้        ปัจจุบัน ไอโฟนคือสมาร์ทโฟนที่สามารถจำหน่ายได้มากที่สุดอันดับ 1 ของโลก โดยไตรมาส 2 ของปีที่ผ่านมา ไอโฟนสามารถเพิ่มส่วนแบ่งตลาดได้อีก 9.1% ในขณะที่โนเกียแชมป์เก่าสูญเสียตลาดไปมากกว่า 30% โดยข้อมูลจากบริษัทวิจัย IHS iSuppli พบว่าส่วนแบ่งตลาดไอโฟนโลกในขณะนี้คือ 18.4% รองลงมาคือซัมซุง 17.8% และอันดับที่ 3 คือโนเกีย เบื้องต้น แอปเปิลเปิดเผยว่าการจัดงานไว้อาลัยสตีฟ จ็อปส์ ผู้ก่อตั้งแอปเปิลที่เสียชีวิตไปเมื่อวันที่ 6 ตุลาคมที่ผ่านมา จะมีขึ้นในช่วงสัปดาห์นี้ขอขอบคุณ ASTV ผู้จัดการที่มา http://www.manager.co.th/CyberBiz/ViewNews.aspx?NewsID=9540000129315
10 ธันวาคม 2554     |      6298
ความสำคัญของรหัสผ่าน กับการถูกแฮกฯทวิตของนายก
เชื่อว่าหลายคนคงจะทราบกันดีอยู่แล้วว่าประเด็นข่าวที่บรรดาสื่อไทยต่างพากันจับตามองนั่นคือ ประเด็นที่บัญชีผู้ใช้ทวิตเตอร์ของนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร ถูกมือดีสวมรอยเข้าใช้ชื่อบัญชีดังกล่าว แล้วทำการโพสต์ข้อความในเชิงโจมตีทั้งตัวนายกฯ พรรคเพื่อไทย นอกจากนี้ยังมีความท้าทายส่งผ่านไปยังตัวนายกฯ เองด้วยว่าเพียงแค่บัญชีส่วนตัวทวิตเตอร์ยังรักษาไม่ได้ แล้วจะปกป้องประเทศอย่างไร        อย่างที่ทราบกัน ขณะนี้ได้มีการแถลงข่าวจากรัฐมนตรีกระทรวง ICT อนุดิษฐ์ นาครทรรพ ว่าในบัญชีทวิตเตอร์ของนายกฯ นอกจากตัวนายกเอง ยังมีทีมงานอีก 1 คนที่รู้รหัสผ่านการเข้าใช้งาน ซึ่งล่าสุดรมว. ICT ได้เปิดเผยว่ามีการติดต่อไปยังทีมงานทวิตเตอร์เพื่อขอข้อมูล Log Files ดังกล่าวเพื่อตามล่าหามือดีที่ทำการแฮกครั้งนี้        สิ่งที่เห็นได้ชัดๆ จากการที่บัญชีผู้ใช้โซเชียลเน็ตเวิร์กของผู้นำประเทศถูกโจรกรรมในครั้งนี้ เป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นว่าประเด็นการให้ความสำคัญของพาสเวิร์ดยังถูกมองข้าม ไม่ให้ความสำคัญมากนัก        การตั้งพาสเวิร์ดที่คนส่วนใหญ่นิยมตั้งกัน มักจะเป็นตัวเลขง่ายๆ ซ้ำๆ กัน หรือใช้อักษรภาษาอังกฤษที่มีความเกี่ยวข้องกับตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นชื่อสัตว์เลี้ยง วันเดือนปีเกิด เป็นต้น รวมไปถึงการใช้งานพาสเวิร์ดที่เป็นรูปแบบของคำศัพท์ธรรมดาที่มีอยู่ในพจนานุกรมภาษาอังกฤษ **ทำไมถึงไม่ควรตั้งรหัสผ่านที่มีในพจนานุกรมภาษาอังกฤษ ?        นั่นเป็นเพราะว่ากระบวนการในแคร็กรหัสผ่าน สามารถทำได้โดยง่ายถ้าหากเป้าหมายใช้รหัสผ่านที่เป็นภาษาอังกฤษ การแคร็กพาสเวิร์ดดังกล่าว เพียงแค่ใช้วิธีกระบวนการ Brute Force หรือ Dictionary Attack ก็ดึงรหัสผ่านนั้นๆ ได้แล้ว โดยใช้เวลาเพียงแค่ชั่วอึดใจเดียว ถ้าเป็นแบบนี้เราควรจะตั้งรหัสผ่านอย่างไรถึงจะแข็งแกร่งและคาดเดาได้ยาก หลักการในการตั้งรหัสผ่านที่ดี คือควรมีสัญลักษณ์หรืออักขระพิเศษลงไปในรหัสผ่าน และเพื่อให้รหัสผ่านมีความแข็งแกร่งมากขึ้นคือ ควรมีการผสมกันของอักขระตัวพิมพ์ใหญ่ปะปนกับไปพยัญชนะตัวพิมพ์เล็กในภาษาอังกฤษ หรืออาจจะแทรกภาษาไทยเข้าไปในรหัสผ่านเพื่อเพิ่มความยากในการคาดเดา        เหนือสิ่งอื่นใด ต่อให้คุณตั้งรหัสผ่านที่ดีมากแค่ไหนก็ตาม แต่หากด้วยความที่คุณยังเป็นมนุษย์ ความผิดพลาดย่อมมีวันเกิดขึ้น อันดับแรกการคือการล็อกอินรหัสผ่านค้างไว้ในมือถือหรือเบราวเซอร์ ทั้งเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ อีเมล ถ้าเกิดมีคนที่จะต้องการกลั่นแกล้งคุณ เพียงแค่เข้าไปเปิดเครื่องของคุณ เขาก็สามารถทำอะไรกับบัญชีผู้ใช้ต่างๆ ของคุณได้เลยทันที โดยที่คุณไม่ทันรู้ตัว คำแนะนำถ้าหากคุณใช้งานเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ หรืออีเมลเสร็จเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ก็ควรที่จะล็อกเอาต์เครื่อง อย่างน้อยๆ เพื่อเป็นหลักประกันว่าจะไม่มีใครแอบอ้างเอาบัญชีคุณไปใช้งานลับหลัง สำหรับเครื่องประจำสำนักงาน สิ่งหนึ่งที่ผู้ใช้ต้องพึงระวังคือ ไม่ควรที่จะแปะรหัสผ่านของเราที่หน้าจอคอมพิวเตอร์ หรือจดโน้ตเอาไว้ที่บนโต๊ะ อย่าลืมว่ารหัสผ่านเป็นสิ่งที่เราต้องจำให้ได้ และไม่ควรที่จะบอกให้ใครรู้ ให้นึกเสียว่ารหัสผ่านการเข้าใช้งานด้านต่างๆ ของเราบนเว็บไซต์นั้นก็มีความสำคัญใกล้เคียงกับรหัสผ่าน ATM ที่เราควรจะให้ความสำคัญเท่าๆ กัน        นอกจากนี้โดยทั่วไปการเข้าใช้งานเว็บเบราวเซอร์ เมื่อมีการเข้าใช้งานเว็บไซต์ที่มีการกรอกชื่อบัญชีและรหัสผ่าน จะมีหน้าต่างขึ้นมาถามเราว่า ต้องการที่จะให้จดจำรหัสผ่านนี้หรือไม่ สำหรับคำแนะนำในเรื่องนี้ เห็นควรว่าจะต้องปฎิเสธไม่ให้มีการจดจำรหัสผ่าน อย่าลืมว่าถ้าหากเราให้มีการจดจำรหัสผ่าน แล้วผู้ใช้งานอย่างเราๆ เกิดลืมที่จะล็อกเอาต์ออก ผลที่เกิดขึ้นหลังจากนั้น เราไม่สามารถคาดเดาได้ว่าจะมีใครเข้ามาใช้งานเครื่องต่อจากเราหรือไม่        ประเด็นนี้ต้องฝากถึงไปยังกลุ่มคนที่ใช้เครื่องคอมพิวเตอร์สาธารณะตามอินเทอร์เน็ต คาเฟ่ ที่มีโอกาสสุ่มเสี่ยงที่จะลืม แล้วโดนผู้ไม่ประสงค์ดีมุ่งทำร้ายต่อบัญชีผู้ใช้ของเราที่มีการล็อกอินค้างเอาไว้ได้ การใช้งานตามร้านอินเทอร์เน็ต คาเฟ่ ควรจะต้องระวังในเรื่อง Keylogger อีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งวิธีการป้องกันก็คือ ไม่ควรกรอกรหัสผ่านในช่องสำหรับกรอกรหัสผ่านเลย ควรจะคีย์ตัวอักษรที่อื่นๆ เช่นใน notepad สลับกับช่องกรอกรหัสผ่าน เพื่อให้ผู้ไม่ประสงค์ดีไม่สามารถคาดเดาได้ว่าข้อมูบที่มีการคีย์ผ่านคีย์บอร์ดมีอะไรบ้าง **Twitter มีฟีเจอร์ในการป้องกันอะไรบ้าง        ส่วนการป้องกันตัวเองคร่าวๆ จากฟีเจอร์ที่มีในทวิตเตอร์ ให้ไปที่ Setting > Account แล้วเลื่อนไปด้านล่างสุดจะมี HTTPS only ให้ติ๊กถูก ซึ่งการเข้าใช้โปรโตคอลด้วย HTTPS (HTTPS เป็นโปรโตคอลที่จะเป็นการสร้างการสื่อสารแบบเข้ารหัส ซึ่งการเชื่อมต่อแบบ HTTPS มักจะใช้ในธุรกรรมทางการเงินบนเว็บ รวมถึงการรักษาความลับต่างๆ) ทำให้การเข้าใช้งานทวิตเตอร์ทุกครั้งมีการเข้ารหัส ซึ่งทำให้แพกเกจที่มีการส่งออกไปนั้น มีการเข้ารหัสยากที่จะถูกแกะแพกเกจระหว่างทางได้ **แล้ว Facebook ล่ะ ? ด้านการป้องกันของ Facebook ก็มีโปรโตคอล HTTPS เช่นกัน โดยผู้ใช้จะต้องไปที่ Account Setting > Security แล้วติ๊กถูกที่ Secure Browsing แล้วกด Save Changes **มีโปรแกรมสร้าง Password ไหม ?        จริงๆ มันก็มีโปรแกรมประเภทนี้อยู่ ถ้าหากเราลองค้นหาด้วยคีย์เวิร์ดคำว่า Password Generator ก็คงจะเจอโปรแกรมและเว็บไซต์ที่จะช่วยสร้างรหัสผ่านจำนวนมาก แต่โปรแกรมประเภทนี้จะสร้างรหัสผ่านที่ค่อนข้างจำได้ยาก เนื่องจากเป็นการผสมจากตัวอักษร อักขระพิเศษ ตัวเลข        อย่างไรก็ตาม ถ้าหากคิดไม่ออกแล้วจริงๆ ว่าจะใช้รหัสผ่านอะไรดี แนะนำให้ไปที่ http://www.pctools.com/guides/password/ และ http://strongpasswordgenerator.com/ ซึ่งเราสามารถกำหนดค่าต่างๆ ได้ และเมื่อเรา Generate Password มันจะมีทิปเล็กๆ น้อยๆ สำหรับให้ผู้ใช้ได้จำรหัสผ่านที่ทางเว็บสร้างให้ **ถ้าอยากรู้ว่ารหัสผ่านที่เราตั้งแข็งแกร่งมากน้อยเพียงใด ต้องทำยังไง ?        ง่ายมาก เพียงแค่เข้าไปที่ https://www.microsoft.com/canada/athome/security/privacy/password_checker.mspx ทางเว็บไซต์ก็จะบอกว่า รหัสผ่านที่เรากรอกไปนั้นมีความเข้มแข็งขนาดไหน จะมีตั้งแต่ระดับ Weak, Medium, Strong และ Best ขอเตือนอีกครั้งหนึ่ง ถึงแม้ว่าเราจะมีระบบการป้องกันเรื่องรหัสผ่าน รหัสผ่านที่ตั้งเข้มแข็งมาก เหนือสิ่งอื่นใดถ้าหากเรายังประมาท หรือไม่เห็นความสำคัญ การป้องกันทั้งหมดก็ไม่สามารถช่วยอะไรคุณได้ ขอขอบคุณ ASTV ผู้จัดการที่มา http://www.manager.co.th/CyberBiz/ViewNews.aspx?NewsID=9540000125729
11 เมษายน 2554     |      7144
เซเนทาสจี้ ไทยควรมีกฏหมายสำรองข้อมูล
หนุนไทยสร้างภาพลักษณ์น่าเชื่อถือในการดำเนินธุรกิจ เซเนทาสชี้ไทยควรออกกฎหมายคุ้มครองความปลอดภัยของข้อมูล รวมถึงห้ามไม่ให้เปิดเผยข้อมูลที่รั่วไหลออกสู่สาธารณะ        มร. จอห์น ดูบัวส์ ซีอีโอ บริษัท เซเนทาส คอร์ปอเรชั่น จำกัดผู้นำระดับโลกทางด้านเทคโนโลยีการปกป้องข้อมูลระดับสูงจากประเทศออสเตรเลีย กล่าวว่า ประเทศไทยคือผู้นำในด้านการให้ความสำคัญต่อระบบรักษาความปลอดภัยของข้อมูล และเป็นในประเทศแรกๆในเอเชียที่มีเทคโนโลยีการเข้ารหัสลับควอนตัม แต่อยากเสนอให้ภาครัฐของไทยเร่งวางระบบโครงสร้างพื้นฐานความปลอดภัยสารสนเทศที่เข้มงวด เพื่อปกป้องข้อมูลสำคัญ        ปัจจุบันประเทศไทยมีการเชื่อมโยงกับระบบการเงินโลกซึ่งจะถูกเชื่อมต่อเข้ากับระบบการเมืองอีกทอดหนึ่ง จึงควรคำนึงถึงความเข้มแข่งในการปกป้องข้อมูลสำคัญ และสร้างความมั่นใจให้แก่คู่ค้า ถึงระบบรักษาความปลอดภัยของข้อมูลที่วิ่งข้ามไปมาบนเครือข่ายข้อมูล อันจะทำให้ได้รับการยอมรับให้เป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มประเทศที่มีความน่าเชื่อถือสูง ผู้บริหาร เซเนทาส กล่าวว่า ได้มีโอกาสพบปะและสนทนากับผู้บริหารระดับสูง และหัวหน้าฝ่ายดูแลระบบรักษาความปลอดภัยทางด้านไอทีจากหน่วยราชการและหน่วยงานทหาร ผู้ให้บริการโทรคมนาคม ธนาคารพาณิชย์รายใหญ่และผู้ให้บริการทางการเงินในประเทศไทย พบว่าเกือบทุกแห่งไม่ได้ตระหนักรู้ว่าข้อมูลที่วิ่งบนเครือข่ายเส้นใยนำแสงนั้นมีช่องโหว่        “เป็นเรื่องง่ายที่จะดักจับข้อมูลเสียง ข้อมูลภาพ และข้อมูลต่างๆ จากเส้นใยนำแสงโดยไม่ถูกตรวจจับแต่อย่างใด รวมทั้งชี้ให้เห็นถึงเทคโนโลยีการเข้ารหัสลับซึ่งช่วยปกป้องข้อมูลที่ถูกจารกรรมหรือมีการเข้าถึงข้อมูลเหล่านี้ได้โดยบังเอิญ โดยแปลงข้อมูลดังกล่าวให้เป็นขยะที่อ่านไม่ได้”        การเข้ารหัสลับคือวิธีการที่ได้รับการพิสูจน์มาแล้วทั่วโลกว่า สามารถปกป้องข้อมูลสำคัญที่วิ่งอยู่บนเครือข่ายอินเตอร์เน็ตได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพสูง เทคโนโลยีจะช่วยขจัดปัญหาการนำข้อมูลที่ถูกจารกรรมไปใช้ก่อเหตุต่างๆ เพราะระบบจะทำการแปลงข้อมูลเหล่านั้นให้กลายเป็นขยะที่อ่านไม่ออก โดยข้อมูลจะถูกปกป้องจากอัลกอริทึ่มที่ผ่านการรับรองมาตรฐานในระดับสากล ซึ่งต้องใช้เวลายาวนานกว่า 149 ล้านล้านปีในการถอดรหัส “ประเทศไทยยังคงมีโอกาสที่จะเสริมสร้างชื่อเสียงในด้านการเป็นผู้นำในการอิมพลีเม้นท์ระบบรักษาความปลอดภัยข้อมูล ด้วยการบังคับใช้กฎหมายเพื่อปกป้องข้อมูลส่วนตัวและข้อมูลองค์กรที่สำคัญ ซึ่งวิ่งผ่านเครือข่ายมากมายโดยปราศจากการป้องกันที่ดีพอ ” มร.จอห์น ดูบัวส์ กล่าว
1 มกราคม 2557     |      6404
จับโจรผู้ดีใช้เฟซบุ๊กฉกเงิน
ถือเป็นคดีเตือนใจชาวเฟซบุ๊กได้ดีสำหรับนาย "เอียน วู๊ด (Iain Wood)" หนุ่มนักธุรกิจติดพรมจากอังกฤษวัย 33 ปีที่ถูกตัดสินโทษจำคุก 15 เดือนฐานขโมยเงิน 57,000 ดอลลาร์สหรัฐจากเพื่อนบ้านและเพื่อนมานานกว่า 2 ปี ความพิเศษของคดีนี้คือการใช้ข้อมูลจากเครือข่ายสังคมอย่างเฟซบุ๊กจนสามารถเข้าถึงบัญชีธนาคารของเหยื่อได้อย่างแนบเนียน ซึ่งไม่เพียงเตือนใจผู้ใช้ แต่ยังเป็นบทเรียนที่น่าสนใจให้กับธนาคารสถาบันการเงินทั่วโลกที่ให้บริการถอนเงินออนไลน์        วิธีการขโมยเงินของโจรไฮเทครายนี้เริ่มที่การเสนอตัวเป็นเพื่อนกับเพื่อนบ้านหลายคนบนเฟซบุ๊ก จากการสะสมข้อมูลบนหน้าเพจเฟซบุ๊กทำให้โจรวู๊ดสามารถเข้าถึงบัญชีธนาคารออนไลน์ของเพื่อนบ้านได้ โดยวู๊ดจะใช้วิธีข้ามหน้ากรอกรหัสผ่านเพื่อไปตอบคำถาม security question ซึ่งธนาคารจะเปิดให้ผู้ใช้เลือกเพื่อตอบคำถามเมื่อจำรหัสผ่านไม่ได้ ที่ผ่านมา วู๊ดสามารถตอบคำถามส่วนตัวของเพื่อนบ้านเช่นชื่อกลางของมารดา หรือวันคล้ายวันเกิดของพ่อได้อย่างถูกต้อง เพราะสามารถรวบรวมข้อมูลจากเฟซบุ๊กได้ครบถ้วนและง่ายดาย        หลังจากเข้าถึงบัญชีออนไลน์ได้แล้ว วู๊ดจะแจ้งเปลี่ยนที่อยู่ของเหยื่อ ทำให้จดหมายแจ้งสถานะการถอนเงินไม่ถูกส่งถึงมือเหยื่อ แต่จะส่งมายังวู๊ดแทน จุดนี้รายงานระบุว่า สถาบันการเงินส่วนใหญ่มักไม่ตรวจสอบการแจ้งเปลี่ยนแปลงที่อยู่ของลูกค้าบนเว็บไซต์ ซึ่งทำให้วู๊ดสามารถลักลอบถอนเงินมาราธอนต่อเนื่องถึง 2 ปี รายงานระบุว่า เงิน 57,000 เหรียญสหรัฐฯ (ราว 1,710,000 บาท) ที่วู๊ดขโมยได้จากการรวบรวมข้อมูลบนเฟซบุ๊กนั้นถูกดำเนินการเป็นระยะตลอดเดือนมิถุนายน 2008 ถึงมิถุนายน 2010 โดยว๊ดสารภาพว่าเงินทั้งหมดถูกนำไปใช้ในการเล่นพนัน โดยการโจรกรรมทั้งหมดเกิดขึ้นหลังจากวู๊ดใช้เวลาอยู่หน้าคอมพิวเตอร์นานกว่า 18 ชั่วโมงต่อวันเพื่อพยายามหาทางลักลอบเข้าสู่บัญชีธนาคารออนไลน์หลายบัญชี และรวบรวมข้อมูลของเหยื่อรายต่อไป        ไม่เพียงเฟซบุ๊ก โจรรายนี้ยังหาเหยื่อบนเครือข่ายสังคมค่ายอื่นเช่น Friends United ซึ่งผู้ใช้หลายรายเผลอประกาศข้อมูลส่วนตัวโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์เช่นกัน โดยคดีที่เกิดขึ้นถือเป็นการสะท้อนว่า ชาวเครือข่ายสังคมทุกคนควรตระหนักรู้ว่าไม่ควรตั้งคำถามส่วนตัวที่มีโอกาสถูกโพสต์สู่สาธารณชนโดยไม่ตั้งใจ เช่นข้อมูลส่วนตัวของครอบครัวเพราะคนในครอบครัวอาจประกาศไว้โดยไม่รู้ว่าข้อมูลเหล่านั้นถูกนำมาตั้งเป็นคำถามรักษาความปลอดภัยบัญชีเงินฝากออนไลน์        โจรวู๊ดนั้นถูกจับกุมหลังจากความพยายามโอนเงินจำนวน 2,500 เหรียญสหรัฐฯจากบัญชีของเหยื่อรายหนึ่งไปยังบัญชีของตัวเองในเดือนพฤศจิกายน ปี 2009 โดยตำรวจได้พบหลักฐานส่วนบุคคลสำคัญของเหยื่อจำนวนมากที่ถูกส่งตรงมาถึงมือวู๊ด ทั้งบิลค่าบริการ จดหมายแจ้งหมายเลขรหัสลับบัญชีเงินฝาก พาสปอร์ต รวมถึงจดหมายแจ้งสถานะทางการเงินอื่นๆ ทำให้ตำรวจเข้าใจวิธีการขโมยเงินจากหลายบัญชีของวู๊ด จนกระทั่งวู๊ดรับสารภาพต่อข้อกล่าวหาทั้งหมด การตัดสินคดีโจรไฮเทคนี้เกิดขึ้นที่ศาล Newcastle Crown Court บนโทษจำคุก 15 เดือน คาดว่าหลังจากคดีนี้ สถาบันการเงินและองค์กรต่างๆที่เปิดให้บริการแจ้งเปลี่ยนที่อยู่ออนไลน์ จะเริ่มหันมาใส่ใจและตรวจสอบการแจ้งเปลี่ยนข้อมูลลักษณะนี้มากขึ้น ขอขอบคุณ ASTV ผู้จัดการที่มา http://www.manager.co.th/Cyberbiz/ViewNews.aspx?NewsID=9540000103386
1 มกราคม 2557     |      7888
ปี 2010 จีนถูกโจมตีออนไลน์ 500,000 ครั้ง
ศูนย์ประสานงานเหตุฉุกเฉินระบบคอมพิวเตอร์แห่งชาติจีนแผ่นดินใหญ่เผย ระบบคอมพิวเตอร์แดนมังกรถูกโจมตีมากกว่า 5 แสนครั้งในปี 2010 ที่ผ่านมา โดยราวครึ่งหนึ่งถูกพบว่ามีต้นตอมาจากประเทศอย่างสหรัฐอเมริกาและอินเดีย        ศูนย์ National Computer Network Emergency Response Coordination Centre แห่งชาติจีน เปิดเผยรายงานสถิติการถูกโจมตีระบบคอมพิวเตอร์ในประเทศจีนว่า ภัยโจมตีระบบคอมพิวเตอร์จีนส่วนใหญ่อยู่ในรูปโปรแกรมสอดแนมหรือโทรจัน (Trojan) ซึ่งมักแฝงตัวในแอปพลิเคชันที่ผู้ใช้ติดตั้งในเครื่องโดยไม่รู้ตัว โดยโปรแกรมจะคอยเก็บข้อมูลประวัติการใช้งานเครื่องแล้วส่งออกไปยังเครื่องเซิร์ฟเวอร์ลับที่คอยควบคุมอยู่จากระยะไกล สำนักความปลอดภัยระบบคอมพ์จีนระบุว่า ไวรัสประสงค์ร้ายหรือมัลแวร์กว่า 15% ที่พบในจีนนั้นมาจากเซิร์ฟเวอร์ที่มีต้นตอในสหรัฐอเมริกา (จากการตรวจสอบหมายเลขไอพีแอดเดรส) โดย 8% มาจากอินเดียแดนโรตี        สถิติเหล่านี้ไม่น่าแปลกใจที่จีนจะมีจำนวนการถูกโจมตีจำนวนมโหฬารเช่นนี้ เพราะจีนนั้นเป็นประเทศที่มีผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตมากที่สุดในโลกด้วยสถิติ 485 ล้านคน        การเปิดเผยจำนวนภัยโจมตีออนไลน์ของจีนครั้งนี้เกิดขึ้นหลังจากบริษัทด้านความปลอดภัยของสหรัฐฯอย่างแมคอาฟี (McAfee) ระบุว่าสามารถตรวจพบขบวนการสอดแนมสมรภูมิไซเบอร์ที่มีขอบเขตครอบคลุมทั้งโลกเพียงไม่กี่วัน จุดนี้แมคอาฟีเชื่อว่าโครงการดังกล่าวจะเป็นปฎิบัติการที่วางกรอบเวลาต่อเนื่องหลายปี อย่างไรก็ตาม แม้จะยังไม่มีการยืนยันชัดเจนว่าผู้ริเริ่มโครงการเป็นใคร แต่นักวิเคราะห์เชื่อว่าเป็นจีน เรื่องนี้สำนักข่าวซินหัว (Xinhua) ประนามการวิเคราะห์ที่ระบุว่าจีนเป็นต้นตอของขบวนการสอดแนมครั้งใหญ่ที่แมคอาฟีค้นพบ ว่าเป็นการกระทำที่ไร้ความรับผิดชอบ โดยปฏิเสธที่จะพูดถึงเหยื่อของขบวนการนี้ที่ไม่มีจีนรวมอยู่ด้วย ซึ่งประเทศที่แมคอาฟีพบว่าถูกสอดแนมนั้นมีตั้งแต่ระบบคอมพิวเตอร์รัฐบาลแคนาดา อินเดีย เกาหลีใต้ ไต้หวัน สหรัฐอเมริกา และเวียดนาม        นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่จีนถูกมองว่าเป็นผู้ลงมือสอดแนมรัฐบาลหลายประเทศ ก่อนหน้านี้เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา กูเกิล (Google) ยักษ์ใหญ่อินเทอร์เน็ตออกมาระบุว่าพบความพยายามเจาะระบบเข้าไปดูบัญชีจีเมล (Gmail) ของเจ้าหน้าที่อาวุโสของรัฐบาลสหรัฐฯ, ทหาร, ผู้สื่อข่าว รวมถึงผู้ดำเนินกิจกรรมทางการเมืองในจีน โดยกูเกิลพบว่าทั้งหมดมีต้นตอมาจากจีน แน่นอนว่าพี่จีนไม่เคยยอมรับกับข้อกล่าวหาที่เกิดขึ้นขอขอบคุณ ASTV ผู้จัดการที่มา http://www.manager.co.th/Cyberbiz/ViewNews.aspx?NewsID=9540000099929
9 พฤศจิกายน 2554     |      6472
กูเกิลไว อุดรูรั่วกันผู้ใช้แอนดรอยด์ 99% ถูกขโมยข้อมูล
เกิลประกาศสามารถแก้ไขปัญหาช่องโหว่ความปลอดภัยล่าสุดในแอนดรอยด์ได้แล้ว ซึ่งเป็นช่องโหว่ที่ถูกรายงานว่าจะมีผลทำให้ผู้ใช้อุปกรณ์แอนดรอยด์มากกว่า 99% ถูกขโมยข้อมูลส่วนตัวได้ กูเกิลย้ำว่าการอุดรูรั่วครั้งนี้ ผู้ใช้มือถือแอนดรอยด์จะไม่ต้องดำเนินการใดๆ และกูเกิลจะลงมือแก้ไขปัญหาให้ผู้ใช้ทั่วโลกต่อเนื่องในช่วง 2-3 วันนับจากนี้        ประชาสัมพันธ์กูเกิลเปิดเผยกับสำนักข่าว PCMag ว่าได้เริ่มแก้ไขช่องโหว่ในแอนดรอยด์ตั้งแต่วันพุธที่ 18 พฤษภาคมตามเวลาสหรัฐฯ โดยยอมรับว่าช่องโหว่ดังกล่าวเป็นช่องโหว่ที่ทำให้บุคคลที่สามสามารถแฝงตัวเข้ามาดึงข้อมูลรายชื่อผู้ติดต่อ (contact) และรายการปฏิทินงานโดยที่เจ้าของเครื่องไม่รู้ตัวจริง แต่กูเกิลไม่ยอมเปิดเผยสัดส่วนอุปกรณ์ที่ได้รับผลกระทบจากรูรั่วดังกล่าว        เพราะกูเกิลถูกตั้งข้อสังเกตโดยนักวิจัยจากมหาวิทยาลัย University of Ulm แห่งเยอรมนี ว่ารูรั่วในแอนดรอยด์ที่เกิดขึ้นนั้นครอบคลุมสัดส่วนมากกว่า 99% ในอุปกรณ์แอนดรอยด์ทั้งหมด โดยหากเจ้าของเครื่องใช้อุปกรณ์เหล่านี้เชื่อมต่อในเครือข่ายที่ไม่ปลอดภัย ก็จะสามารถถูกโจมตีได้ เบื้องต้นคาดว่าอุปกรณ์ที่ใช้ระบบปฏิบัติการ Android 2.3.3 หรือต่ำกว่าจะมีช่องโหว่นี้        เหตุที่ผู้ไม่ประสงค์ดีจะสามารถขโมยข้อมูลยูเซอร์เนมและพาสเวิร์ดไปได้ เนื่องจากความผิดพลาดในโปรโตคอล ClientLogin ซึ่งทำงานเมื่อผู้ใช้ลงชื่อใช้งานแอปพลิเคชันในอุปกรณ์แอนดรอยด์ ความผิดพลาดทำให้ข้อมูลชื่อยูสเซอร์เนมและรหัสผ่านไม่ถูกเข้ารหัส เป็นช่องโหว่ให้แฮกเกอร์สามารถใช้เพื่อแฮกข้อมูลรหัสผ่านได้        การทดลองพบว่าแอนดรอยด์ที่ปลอดภัยจากรูรั่วนี้คือเวอร์ชัน 2.3.4 และ 3.0 เท่านั้น รุ่นที่ออกมาก่อนหน้านี้มีความเสี่ยงพบรูรั่วเหล่านี้ทั้งหมด ซึ่งเท่ากับสัดส่วน 99.7% ของมือถือแอนดรอยด์ทั่วโลก นอกจากการอัปเดทเฟิร์มแวร์ให้เร็วที่สุด ทีมนักวิจัยยังแนะนำให้ผู้ใช้แอนดรอยด์ระวังตัวด้วยการเชื่อมต่ออุปกรณ์กับระบบเครือข่ายที่มีการเข้ารหัสอย่างปลอดภัยเท่านั้น และให้ปิดการเชื่อมต่อเครือข่ายไว-ไฟที่ไม่มีการเข้ารหัสที่เคยเชื่อมต่อไว้ (Forget Network) เพื่อป้องกันการเชื่อมต่ออัตโนมัติ ขอขอบคุณ ASTV ผู้จัดการhttp://www.manager.co.th/Cyberbiz/ViewNews.aspx?NewsID=9540000061351
9 พฤศจิกายน 2554     |      6636
ทำไมถึงเปลี่ยน เว็บเมลล์ (@mju.ac.th) มาเป็น exchange 2010
ข้อดีของการเปลี่ยนเว็๋บเมลล์ มาใช้ Exchange 2010 แทน 2007 1.เพิ่มระบบความปลอดภัยขึ้นมาจากเดิม โดยมีการเข้ารหัสทุกครั้งที่มีการใช้งาน เพื่อป้องกันข้อมูลรั่วไหล 2.มีตัวป้องกันไวรัสที่มากับเมลล์ 3.มีตัวป้องกันเมลล์ขยะ ที่ส่งมารบกวนเจ้าของเมลล์ 4.มีตัวป้องกันระบบรักษาความปลอดภัยได้ดีกว่า 2007 ซึ่งสามารถอุดช่องโหว่ที่จะถูกโจมตีจากผู้ไม่หวังดี ก่อนที่จะไปถึงระบบไฟล์วอล (ช่วยป้องกันการโจมตีจากภายนอกเข้ามาในเครือข่ายภายใน) 5.มีระบบการจัดการที่สะดวกขึ้นสำหรับผู้ดูแลระบบ ทำให้ง่ายต่อการจัดการ 6.ระบบมีความเสถียรสูง ซึ่งหากเกิดความเสียหายต่อระบบขึ้น exchange 2010 จะสามารถกู้ระบบกลับคืนมาได้ง่ายขึ้นกว่าแบบเดิม * สำหรับท่านที่เจอปัญหาการใช้งาน e-mail exchange 2010 สามารถ คลิกเข้าที่นี่
6 กุมภาพันธ์ 2554     |      6822
IT New Update /กูเกิลปิดบริการ Google Video
กูเกิลประกาศปิดบริการอัปโหลดวิดีโอออนไลน์ "Google Video" เมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ระบุว่ามีนโยบายลบไฟล์วิดีโอที่ยังค้างอยู่ในเซิร์ฟเวอร์อย่างเต็มรูปแบบหลังจากหยุดให้บริการอัปโหลดวิดีโอตั้งแต่ปี 2009 แต่ัยังใจดีคงบริการเสิร์ชวิดีโอไว้เช่นเดิม เพื่อให้ชาวออนไลน์มีเครื่องมือค้นหาวิดีโอในเว็บไซต์ทั่วไปได้ Google Video นั้นเป็นบริการลักษณะเดียวกับ YouTube เว็บไซต์วิดีโอออนไลน์ชื่อดังซึ่งกูเกิลซื้อกิจการไปเมื่อปี 2006 ซึ่งเป็นเวลาเพียง 1 ปีให้หลังจาก Google Video เริ่มเปิดตัวเมื่อปี 2005 โดยการประกาศครั้งนี้เป็นการประกาศเตือนให้ผู้บริโภคซึ่งเคยใช้บริการ Google Video ย้ายไฟล์วิดีโอไปเผยแพร่บน YouTube แทน ความเคลื่อนไหวครั้งนี้ไม่น่าแปลกใจเนื่องจาก YouTube นั้นเป็นเว็บไซต์วิดีโอออนไลน์ที่มีผู้ใช้งานมากกว่า 144.1 ล้านยูนีคไอพีต่อเดือน (ตามสถิติของบริษัทวิจัย ComScore) การซื้อกิจการทำให้กูเกิลมี YouTube เป็นตัวตายตัวแทน Google Video กูเกิลจึงไม่มีความจำเป็นในการให้บริการวิดีโอออนไลน์แยกต่างหากเพิ่มอีก กูเกิลส่งอีเมลแจ้งสมาชิกบริการ Google Video ว่าตั้งแต่สิ้นเดือนเมษายนเป็นต้นไป ผู้ใช้จะไม่สามารถเปิดไฟล์วิดีโอย้อนหลังได้ โดยหลังการหยุดให้บริการอัปโหลดไฟล์ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมปี 2009 กูเกิลกำลังทยอยลบไฟล์ที่ยังค้างอยู่ในโฮสต์ขณะนี้ อย่างไรก็ตาม กูเกิลจะยังคงคุณสมบัติด้านการค้นหาวิดีโอออนไลน์ในบริการ Google Video เอาไว้เช่นเดิม เพราะเชื่อว่าจะสามารถนำไปพัฒนาต่อยอดเทคโนโลยีค้นหาวิดีโอออนไลน์ได้ต่อไป ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อนักค้นหาข้อมูลออนไลน์ในอนาคต กำหนดปิดบริการเต็มรูปแบบที่กูเกิลวางไว้จะเริ่มในวันที่ 29 เมษายน 2011 โดยขณะนี้ กูเกิลได้เพิ่มปุ่มดาวน์โหลดในหน้าสถานะวิดีโอเพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ใช้สามารถตามเก็บไฟล์วิดีโอได้สะดวกขึ้น และปุ่มดาวน์โหลดจะไม่สามารถใช้การได้ตั้งแต่วันที่ 13 พฤษภาคมเป็นต้นไป ความเคลื่อนไหวครั้งนี้ถูกนำไปเชื่อมโยงกับข่าวลือที่ระบุว่า กูเกิลกำลังเตรียมลงทุนมูลค่ากว่า 100 ล้านเหรียญสหรัฐ ในการสร้างคอนเทนต์เพื่อเผยแพร่บน YouTube โดยเฉพาะ จนทำให้หลายฝ่ายตั้งตารอว่าสถานีรายการบน YouTube จะสามารถแจ้งเกิดได้ยิ่งใหญ่เพียงใดขอขอบคุณ ASTV ผู้จัดการที่มา http://www.manager.co.th/CyberBiz/ViewNews.aspx?NewsID=9540000047347
1 มกราคม 2557     |      7777
วิธีง่ายๆ ในการแบคอัปข้อมูล Gmail ลงคอมพิวเตอร์
เมื่อเดือนที่ผ่านมา มีข่าวกรณีที่ผู้ใช้งานบริการอีเมล Gmail กว่า 100,000 ราย ได้รับความเดือดร้อน หลังจากอีเมลและบันทึกการสนทนาใน Google Chat สูญหายไปจากระบบ จนไม่สามารถย้อนดูอีเมลเก่าย้อนหลังได้ ซึ่งก็สร้างความเดือดร้อนให้แก่ผู้ใช้ไม่น้อย แม้ตอนนี้จะยังไม่มีแถลงการณ์ใดๆ ออกมาจากกูเกิล เกี่ยวกับความคืบหน้าในการกู้คืนข้อมูลที่หายไปของผู้ใช้บริการนับแสนราย แต่อย่างน้อยถ้าเราสามารถแบคอัปข้อมูลในอีเมลเองได้ ก็จะช่วยให้ผู้ใช้งานอีเมลมั่นใจได้ว่าข้อมูลอันมีค่าที่อยู่ในอีเมล ยังถูกเก็บไว้เป็นอย่างดีในคอมพิวเตอร์ของคุณเอง หากระบบเกิดมีปัญหาอีกครั้ง ก็สามารถกู้คืนข้อมูลจากคอมพิวเตอร์ได้ด้วยตัวเอง ขอเสนอวิธีง่ายๆ ในการแบคอัปข้อมูลให้กับอีเมล Gmail ของคุณ 1. ดาวน์โหลดโปรแกรม Gmail Backup จากเว็บไซต์ http://tiny.cc/zbuhn และติดตั้งไฟล์ลงบนเครื่องคอมพิวเตอร์ของคุณ 2. พิมพ์ User Name (ชื่ออีเมล) ของจีเมล พาสเวิร์ด รวมถึงกำหนด Directory ที่ต้องการเก็บไฟล์แบคอัป แล้วกด "Backup" ที่ด้านล่างซ้ายมือของโปรแกรม ระบบจะทำการแบคอัปข้อมูลทั้งหมดในอีเมล์ของคุณลงคอมพิวเตอร์ เมื่อเกิดปัญหาข้อมูลสูญหาย ก็สามารถเปิดโปรแกรม Gmail Backup แล้วกด "Restore" เพื่อดึงข้อมูลจากคอมพิวเตอร์ไปยังเมล์ของคุณขอขอบคุณ ASTV ผู้จัดการที่มา http://www.manager.co.th/Cyberbiz/ViewNews.aspx?NewsID=9540000028530
5 กันยายน 2554     |      3704
ทั้งหมด 3 หน้า