งานระบบเครือข่ายและบริการอินเทอร์เน็ต
Networking Systems and Internet Services
ธรรมะจรรโลงใจ / "ปัญหาเกี่ยวกับศีล"
ปัญหาเกี่ยวกับศีล * เมื่อรับศีลแล้ว กระทำผิดศีล ทั้งมีเจตนาบ้าง ไม่เจตนาบ้าง จะเป็นบาปหรือไม่ * การรับประทานมังสวิรัติดีหรือไม่ * คฤหัสถ์ที่มีความจำเป็นต้องดื่มสุราเพื่อเข้าสังคมควรทำอย่างไร * คฤหัสต้องทำธุรกิจการค้า วิธีจะรักษาศีลข้อมุสาวาทาให้บริสุทธิ์ทำได้อย่างไร * ศีล ๕ หรือศีลข้ออื่นๆ เกี่ยวข้องกับการทำสมาธิหรือไม่อย่างไร ปัญหาเกี่ยวกับสมาธิและการเจริญปัญญา * การสอนกรรมฐานในปัจจุบัน สำนักต่างๆ ยังมีการขัดแย้งในระเบียบวิธีเกี่ยวกับการปฏิบัติ จะเลือกแนวทางไหนดี * จุดหมายปลายทางที่ถูกต้องของการปฏิบัติสมาธิคืออะไร * การปฏิบัติที่ได้ชื่อว่าถูกต้องมีอะไรเป็นเครื่องวัด * การทำสมาธิช่วยล้างบาปที่เคยทำไม่ดีได้หรือไม่ * ภาวนาไปจิตเบื่อหน่าย จิตเศร้าหมอง จะทำอย่างไร * สภาวะของจิตที่เป็นสมาธิจะมีรูปร่างอย่างไร * สมาธิต่อเนื่องวิปัสสนาทำอย่างไร * สมาธิส่งเสริมปัญญาจะปฏิบัติอย่างไร เมื่อรับศีลแล้ว กระทำผิดศีล ทั้งมีเจตนาบ้าง ไม่เจตนาบ้าง จะเป็นบาปหรือไม่ การรับศีลไปแล้วทำผิดบ้างถูกบ้าง แต่ว่าไม่ได้เจตนา เป็นแต่เพียงขาดการสำรวม ขาดสติ ทำให้ศีลเศร้าหมองนิดหน่อย ทีนี้การที่มารับศีลแล้วรักษาให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ไม่ได้ มีขาดตก บกพร่องบ้าง ถ้าข้อเปรียบเทียบก็เหมือนกันกับว่า ผู้ที่มีเสื้อใส่แต่เป็นเสื้อขาด ก็ยังดีกว่าผู้ที่ไม่มีเสื้อจะใส่เสียเลย การสมาทานศีลนี้ ถึงแม้ว่าจะขาดตกบกพร่องบ้างก็ยังดี อันนั้นเป็นเรื่องวิสัย ธรรมดาของปุถุชนก็ย่อมมีการบกพร่องบ้าง ในเมื่อฝึกไปจนคล่องตัวแล้ว มันก็สมบูรณ์ไปเอง ดีกว่าไม่ทำเลย การรับประทานมังสวิรัติดีหรือไม่ การปฏิบัติงดเว้นจากการรับประทานเนื้อสัตว์นี้เป็นข้อปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ ขอสนับสนุน แต่ปัญหาสำคัญว่าผู้ปฏิบัติแล้วอย่าเอาความดีที่เราปฏิบัติไปเที่ยวข่มขู่คนอื่น การปฏิบัติอันใดปฏิบัติแล้วอย่าถือว่าข้อวัตรปฏิบัติของตนดีวิเศษ แล้วเที่ยวไปข่มขู่คนอื่นนั้น มันกลายเป็นบาป เป็นฉายาแห่งมุสาวาท ไม่ควรทำ คฤหัสถ์ที่มีความจำเป็นต้องดื่มสุราเพื่อเข้าสังคมควรทำอย่างไร ถ้าหากเรามุ่งรักษาศีลให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ เราก็หาทางหลีกเลี่ยงสังคมขี้เหล้าทั้งหลาย เพราะว่าในสังคมพวกขี้เหล้ามันไม่เกิดผลดี มีแต่ทำความเสียหาย แต่ในสังคมที่เป็นกิจลักษณะ เช่น งานเลี้ยงที่เกี่ยวกับการงานซึ่งเราจำเป็นต้องอนุโลมตามเพื่อไม่ให้ขัดสังคม เราก็นึกขอขมา พระรัตนตรัย แล้วก็ขอปลงศีล ๕ เอาไว้ก่อน เมื่อเสร็จธุระแล้ว ปกติถ้าไม่มีงานสังคมเราก็งดเว้น เด็ดขาด... เราก็ตั้งใจสมาทานศีลใหม่ แล้วก็เริ่มรักษาศีลต่อไป ถ้าหากว่าเราจำเป็นต้องดื่มก็ให้มีสติ จิบๆ พอเป็นกิริยา อย่าให้มันมากเกินไปถึงกับหัว ราน้ำ... เพราะเราเป็นผู้น้อยมีความเกรงอกเกรงใจผู้ใหญ่ เมื่อผู้ใหญ่ท่านทำ เราไม่เดินตามหลัง ท่านๆ ก็ตำหนิ แต่ถ้าเราเป็นผู้หลักผู้ใหญ่ เราจะไม่ดื่มเลย... ถ้าหากว่าในบรรดาเพื่อนฝูงที่รู้จัก เขาเคารพต่อพระธรรมวินัย พอเขารู้ว่าเราไม่ดื่มเขาก็ไม่รบกวนหรอก อย่างดีเขาก็พูดประชดประชันนิดหน่อย คฤหัสถ์ต้องทำธุรกิจการค้า วิธีจะรักษาศีลข้อมุสาวาทให้บริสุทธิ์ทำได้อย่างไร ถ้าสมมติว่าเราไปซื้อของมาขาย เราขายของให้ลูกค้า ลูกค้าถามว่า “ทำไมขายแพง” “ต้นทุนมันสูง” คิดค่าเสียเวลา ค่าอาหาร ค่าเดินทาง ค่าขนส่ง ค่าเสียภาษี ดอกเบี้ย บวกเข้าไป ค่าของที่มาตกค้างอยู่ในร้านค้า ทุนมันก็เพิ่มขึ้นๆ ยิ่งค้างอยู่นานเท่าไร มันก็ยิ่งเพิ่มขึ้นๆ ซื้อมาทุน ๑๐ บาท ก็ตีราคาทุน ๑๒ บาทก็ได้ไม่ใช่โกหก เพราะว่ามันเป็นอย่างนั้นจริงๆ ...นักการค้าต้องเป็นคนฉลาด คนรักษาศีลก็ต้องเป็นคนฉลาด แต่ถ้าหากว่าเรามีเจตนาจะโกหกเขา มันก็ผิดศีลข้อมุสาวาท ศีล ๕ หรือศีลข้ออื่นๆ เกี่ยวข้องกับการทำสมาธิหรือไม่อย่างไร ศีล ๕ หรือศีลอื่นๆ มีความเกี่ยวพันต่อการปฏิบัติสมาธิอย่างมาก ศีลเป็นการปรับพื้นฐาน ปรับโทษทางกายวาจา ซึ่งเปรียบเสมือนเปลือกไข่ ส่วนใจเปรียบเหมือนไข่แดง การทำสมาธิ เหมือนการนำไข่ไปฟัก จึงต้องรักษาเปลือกไม่ให้มีรอยร้าว รอยแตก เราจึงจำเป็นต้องรักษาศีล ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ จึงจะได้ผลในทางสมาธิ ทีนี้ถ้าหากจะถามว่าคนที่มีศีล ๕ จะสามารถปฏิบัติ ให้ถึงมรรคผล นิพพานได้ไหม เป็นข้อที่ควรสงสัย อย่างพระเจ้าสุทโธทนะ นางวิสาขา ก็มีศีล ๕ แล้วปฏิบัติ ก็บรรลุมรรค ผล นิพพานได้… เพราะฉะนั้นศีล ๕ นั้นก็เป็นพื้นฐานให้เกิดสมาธิ เกิด สติปัญญา เกิดมรรคผล นิพพานได้ ปัญหาเกี่ยวกับสมาธิและการเจริญปัญญา การสอนกรรมฐานในปัจจุบัน สำนักต่างๆ ยังมีการขัดแย้งในระเบียบเกี่ยวกับการปฏิบัติ จะเลือกแนวทางไหนดี ธรรมะคำสอนของพระพุทธเจ้าสอนให้คนมีความรักกัน มีความสามัคคีกัน แต่พุทธบริษัทเรานี่ยังสอนธรรมะเพื่อความแตกสามัคคี จึงเห็นว่ายังไม่เหมาะสม... ขอให้ทัศนะว่า การขัดแย้ง ขัดแย้งกันเพียงวิธีการเท่านั้นเอง แต่โดยสภาพความเป็นจริง การปฏิบัติธรรมเกี่ยวกับเรื่องสมาธิ ใครจะปฏิบัติแบบไหน อย่างไรก็ตาม ผลเกิดขึ้นแล้วเป็นอย่างเดียวกันหมด ดังนั้น เพื่อไม่ให้สับสน หรือเพื่อความเข้าใจง่ายสำหรับผู้มุ่งปฏิบัติ อาตมาขอแนะนำแนวการปฏิบัติไว้ ๓ ประการ ๑. หลักของการบริกรรมภาวนา ใครจะยกเอาอะไรมาบริกรรมภาวนาก็ได้ ในขั้นต้นเราหาอุบายที่จะผูกจิตให้ติดกับสิ่งใดสิ่งหนึ่งอย่างเหนียวแน่นเสียก่อน เมื่อจิตของเราไปติดกับสิ่งนั้นอย่างเหนียวแน่น จดจ้องอยู่กับสิ่งนั้น ความสนใจสิ่งอื่นก็เป็นว่าเลิกละไป เมื่อจิตไปยึดอยู่เพียงสิ่งเดียว ถ้าหากว่าท่านสามารถทำได้ ลองพิจารณาดูซิว่า การที่ไปยึดกับสิ่งๆ เดียว มันก็เป็นอุบายให้จิตสงบยิ่งขึ้นไปจนกระทั่งไม่นึกถึงสิ่งนั้น จนสภาพจิตกลายเป็นตัวของตัวเองไม่ยึดกับสิ่งใด ทีนี้หากท่านจะถามว่า จะใช้คำไหนเป็นคำบริกรรมภาวนา ไม่มีจำกัด จะเป็นคำอะไรก็ได้ พุทโธ ธัมโม สังโฆ หรือหากว่าจิตใจ ไปติดอยู่กับหลานน้อยๆ คนหนึ่ง นึกถึงชื่อไอ้หนูมันมาบริกรรมภาวนาก็ได้ อย่างเวลานี้มาทำงานแต่เป็นห่วงบ้าน ก็เอาเรื่องบ้านมาบริกรรมภาวนาก็ได้ เพราะอะไรที่เรารัก เราชอบ เราติดอยู่แล้วมันเป็นอุบายให้จิตของเราติดเร็วยิ่งขึ้น จริงอยู่ พระพุทธเจ้าทรงสอนเราเพื่อไม่ให้ยึดในสิ่งใดๆ ทั้งนั้น แต่เพื่อเป็นอุบายที่จะสร้างพลังจิต เพื่อการปล่อยวางสิ่งทั้งปวง เราต้องฝึกหัดจิตของเราให้ติดอยู่กับสิ่งหนึ่งสิ่งใดอย่างเหนียวแน่น ให้มีหลักเกาะ มีที่พึ่ง ให้มีวิหารธรรมเสียก่อน เมื่อจิตของเราติดกับสิ่งนั้นๆ มันก็ติดเพื่อความปล่อยวาง สังเกตดูเมื่อเราบริกรรมภาวนาจนกระทั่งจิตสงบลงแล้ว มันหาได้นึกถึงคำบริกรรมภาวนาไม่ มันไปนิ่งสว่างอยู่เฉยๆ อันนั้นคือมันปล่อยวางแล้ว ทีแรกมันติดก่อน พอติดแล้วมันมีอิสรภาพอย่างแท้จริง เป็นสมาธิอย่างแท้จริง ๒. หลักการพิจารณาค้นคว้าหาเหตุผล ตามคัมภีร์วิสุทธิมรรคก็ดี คัมภีร์พระอภิธรรมก็ดี และในคัมภีร์พระไตรปิฎกก็ดี ท่านได้วางหลักการแห่งการพิจารณาไว้ในรูปแบบต่างๆ ในขั้นต้นก็สอนให้พิจารณากายคตาสติ สอนให้พิจารณาธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ สอนให้พิจารณาความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา สอนให้พิจารณารูป นาม ทีนี้ถ้าต่างว่าเราไม่เอาสิ่งที่ท่านกล่าวไว้ในคัมภีร์มาเป็นเครื่องพิจารณา จะขัดกับแนวปฏิบัติไหม... เรามีกายกับใจ กายกับใจประกอบด้วยตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ธรรมารมณ์ ผ่านเข้ามาทางตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ สิ่งเหล่านี้เป็นสภาวธรรม... ดังนั้น วิชาความรู้ที่ท่านเรียนมา อะไรก็ได้ ท่านหยิบยกเอามาเป็นอารมณ์พิจารณา เช่น อย่างในขณะที่ท่านต้องใช้วิชาการที่ท่านเรียนมาให้เกิดประโยชน์แก่การทำงาน ท่านอาจจะวิตกเอาหัวข้อนั้นอย่างใดอย่างหนึ่งมาตั้งเป็นหัวข้อไว้ในจิตของท่าน แล้วตั้งปัญหาถามตัวเองว่าสิ่งนี้คืออะไร สิ่งนี้คือสิ่งนั้น สิ่งนั้นคืออะไร ถามตอบดูตัวเองไปโดยความตั้งใจ ทำสติให้แน่วแน่ อย่าสักแต่ว่าคิด... การคิดแต่ละจังหวะนั้น ทำสติให้รู้ชัดเจนในความคิดของตัวเอง เอาความคิดนั้นเป็นอารมณ์ เป็นเครื่องรู้ของจิต เป็นเครื่องระลึกของสติ สิ่งที่เราเห็นด้วยตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ เราทำสติกับทุกสิ่งทุกอย่าง ทำสติตลอดเวลา โดยธรรมชาติของจิต ถ้าเราตั้งใจทำอะไรสักอย่างหนึ่งให้เป็นเครื่องรู้ของจิต เป็นเครื่องระลึกของสติ หนักๆ เข้าจิตของเราจะเกิดมีความสงบ มีปีติ มีความสุขได้เช่นกันมีหลักฐานที่จะพึงกล่าวในพระไตรปิฎก คนถากไม้นั่งถากไม้อยู่ เอาการถากไม้เป็นอารมณ์พิจารณาพระกรรมฐาน พิจารณาได้สำเร็จแล้วเป็นพระอรหันต์ คนปั้นหม้อ เอาการปั้นหม้อเป็นอารมณ์พิจารณากรรมฐาน เสร็จแล้วปลงปัญญาลงสู่พระไตรลักษณ์ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ คนทอหูก นั่งทอหูกอยู่ พิจารณาการทอหูกเทียบกับชีวิตของเราที่หดสั้นเข้าไปทุกที ปลงปัญญาลงสู่พระไตรลักษณ์เป็นพระอรหันต์ การถากไม้ การปั้นหม้อ การทอหูก เป็นอารมณ์กรรมฐานทำให้ผู้ปฏิบัติพิจารณาได้สำเร็จพระอรหันต์ฉันใด แม้วิชาความรู้หากเราเรียนมาทุกสาขาวิชาการ เราเอามาเป็นอารมณ์กรรมฐาน ก็ย่อมสำเร็จมรรค ผล นิพพานได้เหมือนกัน เพราะสิ่งนั้นเป็นเครื่องรู้ของจิต เป็นเครื่องระลึกของสติ ๓. หลักการทำสติตามรู้สถานการณ์และสิ่งแวดล้อม ตลอดจนความคิดของตนเอง ถ้าท่านผู้ใดเห็นว่าการค้นคิดพิจารณาไม่คล่องตัว แม้เราจะตั้งใจคิดพิจารณาแต่ความคิดอื่นเข้ามารบกวน เราไม่สามารถควบคุมจิตของเราให้ค้นคิดอยู่ในสิ่งๆ เดียวได้ เพราะวิสัยของเราย่อมคิดอยู่โดยปกติ เมื่อเป็นเช่นนั้นก็ให้ทำสติรู้ลงที่จิต คอยจ้องดูว่าความคิดอะไรจะเกิดขึ้น พอมีความคิดอะไรเกิดขึ้น เราทำสติตามรู้ รู้ตามไปเรื่อยๆ จิตมันคิดเรื่องดีเรื่องชั่วเรื่องสารพัดสารเพ อะไรก็แล้วแต่ปล่อยให้มันคิดไป แต่หน้าที่ของเราทำสติตามรู้อย่างเดียว... เมื่อสติตามรู้ความคิดทันแล้ว ความสงบจะเกิดขึ้น เมื่อความสงบเกิดขึ้นแล้ว ก็มีปีติ มีความสุข มีความเป็นหนึ่งเช่นเดียวกับการบริกรรมภาวนาได้ จุดหมายปลายทางที่ถูกต้องของการปฏิบัติสมาธิคืออะไร ความประสงค์ของผู้ทำสมาธิว่าจะทำสมาธิเพื่ออะไร แยกตามกิเลสของคน - บางท่านทำสมาธิเพื่อให้เกิดอิทธิฤทธิ์ - บางท่านทำสมาธิเพื่อให้รู้ยิ่งเห็นจริงในเรื่องราวต่างๆ - บางท่านทำสมาธิ ไม่ต้องการอะไร ขอให้จิตสงบ ให้รู้ความเป็นจริงของจิตเมื่อประสบกับอารมณ์อะไรเกิดขึ้น เพื่อจะอ่านจริตของเราให้รู้ว่าเราเป็นราคจริต โทสจริต โมหจริต วิตกจริต พุทธจริต ศรัทธาจริต อย่างใดอย่างหนึ่ง เพื่อจะดูให้รู้แจ้ง เพื่อจะเป็นพื้นฐานที่เราจะแก้ไขดัดแปลงจิตของเรา เมื่อเรารู้ชัดลงไปแล้ว เรามีกิเลสตัวไหน เป็นจริตประเภทไหน เราจะได้แก้ไขดัดแปลงตัดทอนสิ่งที่เกิน แล้วเพิ่มสิ่งที่หย่อนให้อยู่ในระดับพอดีพองาม เรียกว่ามัชฌิมาปฏิปทา ในการปฏิบัติ ถ้าจะว่ากันโดยสรุปแล้วเราต้องการสร้างสติให้เป็นมหาสติ เป็นสติพละ เป็นสตินทรีย์ เป็นสติวินโย ไม่ได้มุ่งถึงสิ่งที่เราจะรู้จะเห็นในสมาธิ การภาวนา แม้จะเห็นนิมิตต่างๆ ในสมาธิ หรือรู้ธรรมะซึ่งผุดขึ้นเป็นอุทานธรรม สิ่งนั้นไม่ใช่เป็นเปอร์เซ็นต์ที่เราเก็บเอาเป็นผลงานที่เราปฏิบัติได้ เพราะสิ่งนั้นเป็นเครื่องรู้ของจิต เป็นเครื่องระลึกของสติ เป็นอารมณ์กรรมฐานที่เกิดขึ้นในสมาธิ และเป็นสัญลักษณ์ของปัญญาที่เกิดขึ้นในสมาธิ ซึ่งเรียกว่า สมาธิปัญญา... พลังของสมาธิสามารถทำให้เกิดสติปัญญาเกิดความรู้เห็นอะไรต่างๆ แปลกๆ สิ่งที่ไม่เคยรู้ก็รู้ สิ่งที่ไม่เคยเห็นก็เห็นแต่สิ่งนั้น พึงทำความเข้าใจว่าไม่ใช่ของดีที่เราจะเก็บเอาไว้เป็นสมบัติให้กำหนดเป็น เพียงแต่ว่าสิ่งนั้นเป็นเพียงเครื่องรู้ของจิตเครื่องระลึกของสติ เป็นอารมณ์กรรมฐานที่เกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ เป็นอุบายสร้างสติให้เป็นมหาสติปัฏฐาน การปฏิบัติที่ได้ชื่อว่าถูกต้องมีอะไรเป็นเครื่องวัด มีศีล ๕ เป็นเครื่องวัด ปฏิบัติอันใดไม่ผิดศีล ๕ ข้อใดข้อหนึ่ง นั้นแหละเป็นการปฏิบัติที่ถูกต้อง ทีนี้ สำหรับความรู้ความเห็น ความรู้อันใดเกิดขึ้น ยึดมั่น ถือมั่น มีอุปาทาน ทำให้เกิดปัญหาว่านี่คืออะไร นั่นคือตัวนิวรณ์ เป็นมิจฉาทิฏฐิ ความรู้ที่เกิดขึ้นแล้ว จิตไม่ยึด ไม่สร้างปัญหาให้ตัวเองเดือดร้อนเพราะรู้แจ้งเห็นจริง มีแต่ปล่อยวาง ความรู้นั้นเป็นสัมมาทิฏฐิ ...สิ่งหนึ่งซึ่งนักปฏิบัติควรจะสังเกตทำความเข้าใจ ถ้าเราฝึกปฏิบัติแล้ว เราเกิดศรัทธาอยากปฏิบัติ ถ้าวันใดไม่ได้ปฏิบัติวันนั้นนอนไม่หลับ แสดงว่าท่านได้ศรัทธาพละ ในเมื่อท่านได้ศรัทธาพละ ท่านอยากปฏิบัติ ท่านก็ได้ความเพียร ในเมื่อท่านได้ความเพียร ท่านก็มีความตั้งใจคือสติ เมื่อมีสติก็มีความมั่นใจคือสมาธิ ในเมื่อมีความมั่นใจคือสมาธิ ท่านก็มีสติปัญญาพอที่จะคิดค้นหาลู่ทางในการปฏิบัติ นี่ให้ฝึกสังเกตอย่างนี้ อย่าไปกำหนดหมายเอาว่า ภาวนาแล้วจะต้องเห็นภูตผีปีศาจ ผีสาง เทวดา อินทร์ พรหม ยม ยักษ์ สิ่งเหล่านี้แม้จะรู้เห็นก็เป็นแค่เพียงอารมณ์ของจิตเท่านั้น ไม่ใช่ของดีวิเศษ ทีนี้เราจะกำหนดหมายเอาที่ตรงไหน กำหนดหมายเอาตรงที่ว่า รู้ว่านี่คือจิตของเรา จิตของเรามีความเป็นธรรมไหม จิตของเราเที่ยงไหม จิตของเราดูดดื่มในคุณพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ไหม เมื่อออกจากสมาธิไปแล้ว จิตของเรามีเจตนาที่จะงดเว้นจากความชั่วประพฤติความดีไหม มีความซื่อสัตย์สุจริตต่อตนเองไหม ซื่อสัตย์สุจริตต่อหมู่คณะและครอบครัวไหม ดูกันที่ตรงนี้ ถ้าใครภาวนาแล้วเบื่อหน่ายต่อครอบครัว อยากหนีไปบวช มิจฉาทิฏฐิกำลังจะกินแล้ว ใครภาวนามีสมาธิดีแล้วเบื่อหน่ายงาน อยากทิ้งการทิ้งงานหนีออกไป อันนั้น ความผิดกำลังจะเกิดขึ้น ถ้าใครภาวนาเก่งแล้ว สมมติว่าครูบาอาจารย์มีลูกศิษย์รักลูกศิษย์มากขึ้น ลูกศิษย์ภาวนาเก่งแล้วรักครูบาอาจารย์ เคารพครูบาอาจารย์มากขึ้น สามีภรรยาภาวนาเก่งแล้วรักกันยิ่งขึ้น รักลูกรักครอบครัว รู้จักประหยัด รู้จักสิ่งที่ควรไม่ควรดียิ่งขึ้น อันนี้จึงจะได้ชื่อว่าเป็นการภาวนาได้ผลดี การทำสมาธิช่วยล้างบาปที่เคยทำไม่ดีได้หรือไม่ ในศาสนาพุทธไม่มีการทำดีเพื่อล้างบาป ขอให้ทำความเข้าใจว่าไม่มีการทำบุญเพื่อล้างบาป แต่การทำบุญหรือทำดีเพื่อหนีบาปนั้นเรามีหนทางที่จะทำได้ คือพยายามทำความดีให้มากขึ้น มากขึ้น ให้คุณความดีเป็นเครื่องอุ่นใจ เป็นวิหารธรรม เครื่องอยู่ของใจ ใจมันก็ปราโมทย์บันเทิงอยู่กับความดี เมื่อมันไปอยู่กับความดี มันก็ไม่คิดถึงบาปในอดีตที่ทำมาแล้ว ทีนี้เมื่ออารมณ์บาปไม่ไปรบกวน เราก็มีโอกาสได้ทำความดีเพิ่มมากขึ้น ถ้าหากความดีนั้นมีอำนาจเหนือบาป มีผลแรงกว่าบาป จิตของเราหนีบาปไปไกล เมื่อเวลาตายไปแล้ว ก็ไปสู่สุคติ ถ้าไม่ไปสู่สุคติแล้วเรามาเกิดใหม่ ถ้าหากว่าเราไม่ทำความดีเพิ่มเติม บาปมันก็มีโอกาสให้ผล บาปเล็กๆ น้อยๆ มันไม่หายไปไหนหรอก ทีนี้ถ้าหากเรากลัวบาป จะตัดกรรมตัดเวร ถ้าหากพระองค์ใดไปแนะนำว่าทำบาปแล้วไปตัดเวรตัดกรรมอย่าไปเชื่อ มันตัดไม่ได้ เวรนี่อาจตัดได้ แต่กรรมคือการกระทำนั้นมันตัดไม่ได้ ที่ว่าเวรนี่ตัดได้ เช่นอย่างเราอยู่ด้วยกันทำผิดต่อกัน เมื่อปรับความเข้าใจกันได้แล้ว เราขอโทษซึ่งกันและกัน ต่างฝ่ายต่างยกโทษให้กัน เวรที่จะตามคอยจองล้างจองผลาญกันมันก็หมดสิ้นไป แต่ผลกรรมที่ทำผิดต่อกันนั้นมันไม่หายไปไหนหรอก แต่ถ้าหากว่าเราพยายามทำดีให้มันมากขึ้นๆ เรารู้สำนึกว่าสิ่งที่ทำไปนั้นมันไม่ดี เราเลิก เราประพฤติแต่ความดี …บาปที่ทำแล้วมันแก้ไม่ได้ แต่นิสัยชั่วที่เราประพฤติอยู่นั้นมันแก้ได้ ท่านให้แก้กันที่ตรงนี้ ภาวนาไปจิตเบื่อหน่าย จิตเศร้าหมอง จะทำอย่างไร ความเบื่อเป็นอาการของกิเลส ในเมื่อมันเกิดเบื่อ พิจารณาความเบื่อ เอาความเบื่อเป็นอารมณ์ ถามตัวเองว่าทำไมมันจึงเบื่อ เมื่อได้คำตอบแล้ว ถามต่อไปอีกว่าทำไมๆ เพราะอะไรๆ ไล่มันไปจนมันจนมุม เอาความเบื่อเป็นอารมณ์ เอาความเบื่อเป็นเครื่องรู้ เราก็พิจารณาหาเหตุผลความเบื่อให้ได้ การพิจารณาเช่นนี้ก็คือการพิจารณาวิปัสสนากรรมฐาน จิตเศร้าหมองก็พยายามภาวนาให้มากขึ้น พิจารณาให้มากขึ้น ในเมื่อจิตรู้แจ้งเห็นจริงแล้วมันจะหายเบื่อและหายเศร้าหมอง สภาวะของจิตที่เป็นสมาธิจะมีรูปร่างอย่างไร ภาวะที่จิตเป็นสมาธิ ไม่มีรูปร่าง มีแต่ความรู้สึกทางกาย ทางจิต จิตเป็นสมาธิทำให้กายเบา กายสงบ สงบจากทุกขเวทนาความปวดเมื่อย จิตเบาหมายถึงจิตปลอดโปร่ง จิตสงบหมายถึงจิตไม่ดิ้นรน ไม่วุ่นวาย ไม่มีความยินดี ไม่มีความยินร้าย มีแต่ความปีติ มีความสุขเกิดจากสมาธินั้น ถ้าจะนับสมาธิในขั้นนี้ยังเป็นอุปจารสมาธิ ถ้าหากว่าจิตตั้งมั่นคงได้นาน จิตยังมีวิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา ก็เป็นสมาธิขั้นปฐมฌาน สมาธิต่อเนื่องวิปัสสนาทำอย่างไร คำว่าวิปัสสนานี้ มีอยู่ ๒ ขั้นตอน ขั้นต้นคือวิปัสสนาที่ใช้สติปัญญากำหนดพิจารณาเอาด้วยความตั้งใจ เช่น เราพิจารณาร่างกายให้เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา หรือพิจารณารูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ น้อมไปสู่ความเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ใช้ความรู้สึกนึกคิดที่เราเรียนรู้มานั้นมานึกเอา เรียกว่าการเจริญวิปัสสนาแบบใช้สติปัญญาธรรมดาๆ… โดยความรู้สึกนึกคิดเอาเองนี่แหละ เป็นการตกแต่งปฏิปทาเพื่อให้จิตสงบเป็นสมาธิ เมื่อจิตสงบเป็นสมาธิแล้วเกิดวิปัสสนาขึ้นมาโดยอัตโนมัติ จะปฏิวัติไปสู่ภูมิรู้อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา จงทำความเข้าใจว่าถ้าสมาธิหรือสมถะไม่เกิดขึ้น ท่านจะเจริญวิปัสสนาอย่างไร ท่านจะไม่ได้วิปัสสนาเพราะวิปัสสนามีมูลฐาน เกิดจากสมถะคือสมาธิ ถ้าสมถะคือสมาธิไม่เกิดขึ้น ท่านจะได้แค่วิปัสสนาแบบนึกคิดเอาเอง เป็นวิปัสสนาภาคปฏิบัติเท่านั้น ยังไม่ใช่วิปัสสนาที่แท้จริง สมาธิส่งเสริมปัญญาจะปฏิบัติอย่างไร เมื่อจิตอยู่ในฌานขั้นที่ ๔ กายหายไปแล้ว ลมหายใจก็หายไปแล้ว ยังเหลือแค่จิตซึ่งเป็นนามธรรมปรากฏเด่นชัดอยู่เพียงดวงเดียว จิตก็ได้แต่ความนิ่งสว่างอยู่อย่างเดียว อาการแห่งความคิดต่างๆ ไม่เกิดขึ้นในขณะนั้น แล้วจิตก็รู้อยู่เพียงแค่รู้ รู้อยู่แค่เพียงความสงบ รู้อยู่แค่เพียงความเป็นกลางของจิตเท่านั้น ปัญญาความรู้ยังไม่เกิด แต่เป็นฐานที่สร้างพลังของจิต เมื่อจิตสงบอยู่ในสมาธิขั้นนี้นานๆ เข้าและบ่อยครั้งเข้า ทำให้จิตของเราเกิดมีพลังงานคือมีสมาธิความมั่นคง สติสัมปชัญญะค่อยดีขึ้นบ้าง ในเมื่อผู้ปฏิบัติทำจิตได้สงบขนาดนี้แล้ว เมื่อจิตถอนออกจากสมาธิแล้วอย่าไปยินดีและพอใจเพียงแต่ความสงบอย่างเดียว ส่วนมากนักปฏิบัติเมื่อทำจิตให้สงบเป็นสมาธิได้ พอถอนจิตออกจากสมาธิมาเพราะความดีใจในความสงบของจิตในสมาธิ พอรู้สึกตัวขึ้นมาแล้วกระโดดโลดเต้นลุกออกจากที่นั่ง อันนี้ปฏิบัติไม่ถูกต้อง ถ้าขืนทำอย่างนี้จิตมันก็ได้แต่ความสงบนิ่งเป็นสมาธิอย่างเดียว ปัญญาความรู้จะไม่เกิด วิธีปฏิบัติเกี่ยวกับเรื่องนี้ควรทำอย่างนี้ เมื่อจิตสงบดีจนกระทั่งตัวหาย เมื่อจิตถอนจากสมาธิมา พอสัมผัสรู้ว่ามีกายเท่านั้นจิตย่อมมีความคิดทันที ผู้ภาวนาอย่าเพิ่งรีบด่วนออกจากที่นั่งสมาธิเป็นอันขาด ให้ตั้งใจกำหนดทำสติตามรู้ความคิดนั้นๆ ไป ถ้าหากปฏิบัติอย่างนี้ภูมิจิตของท่านจะก้าวสู่ภูมิแห่งวิปัสสนาได้เร็ว เพราะเมื่อจิตผ่านการสงบนิ่งมาแล้ว เมื่อเกิดความคิดอันใดขึ้นมา ความคิดมันจะแน่วแน่ คิดถึงสิ่งใดก็จะรู้ชัดเจน เพราะสติมันดีขึ้น เมื่อสติดีขึ้น ความคิดที่คิดขึ้นมา จิตก็จะมีสติตามรู้ความคิดไปเรื่อยๆ เมื่อผู้มาทำสติถ้ากำหนดตามรู้ความคิดที่เกิดดับๆ อยู่ ผลลัพธ์ก็คือว่าจะทำให้ผู้ปฏิบัติรู้พระไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา คือรู้ว่าความคิดย่อมมีเกิดขึ้น ทรงอยู่ ดับไปๆ นอกจากจะรู้พระไตรลักษณ์คือ อนัจจัง ทุกขัง อนัตตาแล้ว ยังจะต้องรู้ทุกขอริยสัจจ์ เพราะความคิดเท่านั้นที่จะมาแหย่ให้เราเกิดความสุขความทุกข์ เกิดความยินดียินร้าย เมื่อเรากำหนดสติตามรู้อย่างไม่ลดละ เราก็จะรู้พระไตรลักษณ์ รู้ทุกขอริยสัจจ์ที่จะพึงเกิดขึ้นกับจิต
4 พฤษภาคม 2554     |      4192
ธรรมะจรรโลงใจ / "ความมุ่งหมายของการฟังธรรม"
ความมุ่งหมายของการฟังธรรม ความมุ่งหมายของการฟังธรรมนั้น มีอยู่ ๕ ประการ คือ * ฟังธรรมเอาบุญ * ฟังธรรมเอาความรู้ * ฟังธรรมเพื่อเป็นอุปนิสัย * ฟังธรรมเพื่อปฏิบัติ * ฟังธรรมเพื่ออุทิศส่วนบุญ ๑. ฟังธรรมเอาบุญ หมายความว่า ฟังธรรมแล้วได้บุญ บุญแปลว่า ชำระ คือ ชำระกายวาจาใจให้สะอาด เพราะกายวาจาใจของคนเราเปื้อนบาป จึงจำเป็นต้องชำระด้วยน้ำ คือ บุญ ดุจชำระเสื้อผ้าที่สกปรกด้วยผงซักฟอกฉะนั้น บาปนั้นมีอยู่ ๓ ขั้น คือ บาปอย่างหยาบ ๑ บาปอย่างกลาง ๑ บาปอย่างละเอียด ๑ บาปอย่างหยาบ คือ ความโลภ ความโกรธ ความหลง ล่วงออกมาทางกาย เช่น ฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติผิดประเวณี และล่วงออกมาทางวาจา เช่น พูดเท็จ พูดคำหยาบ พูดส่อเสียด พูดเพ้อเจ้อ เป็นต้น ต้องชำระด้วยบุญขั้นต้นคือ ศีล บาปอย่างกลาง คือ นิวรณ์ทั้ง ๕ ได้แก่ กามฉันทะ พอใจในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ๑ พยาบาท ใจโกรธ ใจขุ่น ๑ ถีนมิทธะ ง่วงเหงาหาวนอน ๑ อุทธัจจะกุกกุจจะ ฟุ้งซ่านรำคาญ ๑ วิจิกิจฉา สงสัยลังเลใจ ๑ บาปทั้ง ๕ นี้ ต้องชำระด้วยบุญอย่างกลาง คือ สมาธิ บาปอย่างละเอียด คือ อนุสัย ได้แก่กิเลสที่นอนดองอยู่ในใจ ดุจขี้ตะกอนอยู่ก้นตุ่มฉะนั้น มีอยู่ ๑๒ ตัว คือโลภะ ๘ โทสะ ๒ โมหะ ๒ อันเป็นส่วนละเอียดติดมาแต่ภพก่อนชาติก่อน ต้องชำระด้วยบุญขั้นละเอียด คือ วิปัสสนาปัญญา ในขณะที่ท่านทั้งหลายกำลังฟังธรรมอยู่ในขณะนี้ กายกรรม ๓ วจีกรรม ๔ ของแต่ละท่านก็บริสุทธิ์เพราะอำนาจแห่งศีล ศีลแปลว่ารักษากายวาจาให้เรียบร้อย ศีลนี่แหละเป็นบุญขั้นต้น เป็นที่พึ่งเบื้องต้น เป็นแม่ของคุณงามความดีทั้งหลาย และเป็นประมุขของกุศลธรรมทั้งปวง จะฟังรู้เรื่องหรือไม่รู้เรื่องก็ตาม ถ้าตั้งใจฟังแล้วได้บุญทั้งนั้น เพราะจิตดวงนี้เป็นมหากุศล ถ้าตายลงในขณะนี้ก็มีผลให้ไปมนุษย์ก็ได้ ไปเกิดสวรรค์ก็ได้ เช่น แม่ไก่ฟังธรรมถูกฆ่าตาย ได้ไปเกิดเป็นพระราชธิดา กบฟังธรรมถูกฆ่าตายได้ไปเกิดเป็นเทพบุตรชื่อว่า มัณฑูกเทพบุตร ค้างคาว ๕๐๐ ตัว ฟังพระอภิธรรม ตายแล้วได้ไปเกิดในสวรรค์ ผลสุดท้ายได้กลับมาเกิดเป็นมนุษย์ ได้ออกบวชเป็นพระ ได้ฟังพระอภิธรรม ก็ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ทั้งหมด อย่างนี้เรียกว่า ฟังเอาบุญ ๒. ฟังธรรมเอาความรู้ หมายความว่า ฟังแล้วต้องจำได้ ใครจำได้มากเท่าไร ก็เป็นความรู้ของคนนั้น ถ้าจำไม่ได้ต้องจดไว้ บันทึกไว้ หรืออัดใส่เทปไว้ เปิดฟังบ่อยๆ ฟังจนจำได้ สมดังคำโบราณท่านสอนลูกหลานไว้ว่า “เห็นแล้วจดไว้ ทำให้แม่นยำ เหมือนทราบแล้วจำ ไว้ได้ทั้งมวล เมื่อหลงลืมไป จักได้สอบสวน คงไม่แปรปรวน จากที่จดลง” ๓. ฟังธรรมเพื่อเป็นอุปนิสัย หมายความว่า ในขณะที่ฟังอยู่นั้น ได้ยินบ้างไม่ได้ยินบ้าง มีเสียงอื่นรบกวน ทำให้หนวกหูบ้าง ง่วงนอนบ้าง กำลังทำกิจอย่างอื่น เช่น ล้างถ้วยล้างชามบ้าง โขลกหมากบ้าง ถึงอย่างนั้นก็ยังเป็นบุญอยู่ ตัวอย่าง ในกาลแห่งพระพุทธเจ้าพระนามว่า กัสสปะ งูเหลือมตัวหนึ่งได้ยินเสียงพระนักอภิธรรมกำลังท่องอายตนะกถาอยู่ ถือเอานิมิตในเสียงนั้น ตายแล้วได้ไปเกิดในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เมื่อพระพุทธเจ้าของเราปรินิพพานแล้ว ได้มาบังเกิดในตระกูลพราหมณ์ ออกบวชเป็นอาชีวกชื่อว่า ชนะโสณะ ได้ฟังธรรมย่อๆในหัวข้อว่า "อายตนะ" จากพระอุปคุตตเถระ ก็เกิดความเลื่อมใสอย่างแก่กล้า ขอบวชเป็นพระในพระพุทธศาสนา เรียนพระกรรมฐาน เจริญวิปัสสนา จนได้บรรลุมรรคผลนิพพานเป็นพระอรหันต์ ๔. ฟังธรรมเพื่อปฏิบัติ หมายความได้ ๒ อย่าง คือ ฟังแล้วจำไว้ มีโอกาสเมื่อใดก็นำไปปฏิบัติได้เมื่อนั้น นี้อย่างหนึ่ง ถ้าเป็นนักปฏิบัติวิปัสสนา สามารถฟังไปปฏิบัติไปพร้อมกันได้เลย เพราะในขณะที่ได้ยินเสียงพระแสดงธรรมอยู่นั้น ขันธ์ ๕ เกิดแล้ว อารมณ์ของวิปัสสนาเกิดแล้ว คือเสียงกับหูเป็นรูปขันธ์ ได้ยินเสียงธรรมะแล้วสบายใจ เป็นเวทนาขันธ์ จำได้เป็นสัญญาขันธ์ แต่งให้เห็นว่าดีหรือไม่ดีเป็นสังขารขันธ์ ได้ยินเป็นวิญญาณขันธ์ ย่อให้สั้นๆก็ได้แก่รูปกับนาม รูปนามนี้แหละเป็นอารมณ์ของวิปัสสนา ดังนั้น นักปฏิบัติวิปัสสนาจึงลงมือปฏิบัติได้ทันที โดยตั้งสติไว้ที่หู ตัวอย่าง พาหิยะทารุจีริยะ ได้ฟังธรรมจากพระพุทธเจ้าที่ตรัสว่า "ได้ยินก็สักว่าแค่ได้ยิน" ไม่ช้าท่านก็ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ ๕. ฟังธรรมเพื่ออุทิศส่วนบุญ หมายความว่า เราตั้งใจฟังธรรมได้บุญแล้ว ก็อุทิศส่วนบุญนั้นให้แก่ บิดามารดา ครู อาจารย์ ท่านผู้มีบุญคุณ ท่านผู้มีพระคุณ.ที่มา พระธรรมเทศนาอริยธนกถา โดย พระธรรมธีรราชมหามุนี (โชดก ญาณสิทธิ) วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฏิ์ กรุงเทพมหานคร ๒๕๒๔, อนุสรณ์ คุณหญิงเจือ นครราชเสนี
4 พฤษภาคม 2554     |      4312
ธรรมะจรรโลงใจ / "รักษาใจ กับการข่มใจ"
วันนี้จะบรรยายธรรม อนุสาวรีย์ของสมเด็จพระบรมศาสดา แสดงความเคารพต่อพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ ซึ่งเป็นหลักแห่งพระศาสนาที่นับถือของตน คนเราจะต้องมีพระศาสนาเป็นเครื่องจูงใจ จึงจะทำความรู้และความประพฤติของตนให้ประกอบด้วยประโยชน์ การนับถือพระศาสนาต้องเคารพนับถือพระพุทธเจ้าผู้เป็นเจ้าของ ประพฤติตามธรรมคำสั่งสอนของพระองค์ นับถือพระสงฆ์เป็นผู้ปกครองรักษา เช่นเดียวกับอาณาจักร อย่างพวกทหารเคารพนับถือสมเด็จพระมหากษัตริย์ และประพฤติตามวินัยที่ทรงบัญญัติ สำหรับหมู่คณะของตนไม่ฝ่าฝืน นับถือนายที่เป็นผู้ใหญ่เหนือตน อันได้รับการศึกษาคุ้นเคยในกิจการ ซึ่งสมเด็จพระมหากษัตริย์ทรงวางพระทัย แต่งตั้งให้เป็นผู้บังคับบัญชา ฉะนั้นพระศาสนา ปฏิบัติให้ถูกทางแล้ว ย่อมสำเร็จประโยชน์แก่บุคคลทุกจำพวก แม้พวกข้าราชการทหารก็ต้องยึดธรรมเป็นหลัก จึงจะนับว่าเป็นทหารที่ดี ธรรมที่ทหารควรยึดถือเป็นหลักนั้น จะยกขึ้นกล่าวในที่นี้ ๒ ประการคือ ๑ ความรักษาใจ ๒. ความข่มใจ ธรรม ๒ ประการนี้เป็นของสำคัญ เพราะใจเป็นเครื่องกระทบอยู่รอบข้าง ถ้าไม่มีธรรมกำกับอยู่ด้วย มักจะเพลิดเพลินไปในอารมณ์ที่ล่อให้มัวเมา และสะดุ้งหวาดหวั่น ด้วยอำนาจอารมณ์ที่ขู่ให้ตกใจ เมื่อใจแชเชือนไปเช่นนั้น การพูดการทำก็ย่อมเชือนไปตามกัน เมื่อความประพฤติเสีย แม้จะมีวิทยาความรู้สักเพียงไร ก็ไม่เป็นประโยชน์ กลับจะใช้ความรู้ในทางที่ผิด เป็นดังนี้ ก็ด้วยอำนาจความคิดอันวิปริต สมดังสุภาษิตโบราณท่านกล่าวไว้ว่า ความรู้ท่วมหัวเอาตัวไม่รอด ข้อนี้ ต้องจำใส่ใจไว้ที่มา http://www.dhammajak.net/board/viewtopic.php?t=11263
4 พฤษภาคม 2554     |      3676
ธรรมจรรโลงใจ "ผู้ปฏิบัติธรรมคือผู้มีบุญสูงสุด"
ผู้เกิดมาพบพระพุทธศาสนาเป็นผู้มีบุญอย่างยิ่ง แต่ผู้ปฏิบัติพระพุทธศาสนา คือปฏิบัติให้จริงตามที่สมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสอนเป็นผู้มี บุญสูงสุด พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาที่ประเสริฐสุด ไม่มีที่เปรียบได้ เพราะพระพุทธศาสนาเท่านั้นที่จะพาไปให้รู้จักพลังพิเศษ คือ ความคิดที่สามารถทำลายความทุกข์ได้ ตั้งแต่ทุกข์น้อย จนถึงทุกข์ทั้งปวง จนถึงเป็นผู้ไกลทุกข์สิ้นเชิง ไม่มีเวลากลับมาให้เป็นทุกข์อีกเลยตลอดไป ผู้มีพลังพิเศษพาหนีทุกข์ได้ พาดับทุกข์ได้ พาพ้นทุกข์ได้ คือผู้มีความคิดพิเศษ และความคิดพิเศษนี้เกิดได้จากความรู้จักปฏิบัติพระพุทธศาสนาเท่านั้น พลัง แห่งความคิดพิเศษ หรือความคิดพิเศษนั่นเอง ที่เป็นผู้ช่วยยิ่งใหญ่ พร้อมที่จะช่วยทุกคนที่รู้ค่าของความพิเศษ ที่ยอมรับยอมเชื่อ ว่าความคิดพิเศษนั้นมีอำนาจใหญ่ยิ่งจริง อาจพาให้พ้นทุกข์ได้จริง ทั้งทุกข์น้อยทุกข์ใหญ่ จนถึงทุกข์สิ้นเชิง จะทุกข์หรือไม่ทุกข์ อยู่ที่ความคิดของตนเองนี้เป็นสัจจะ คือเป็นความจริงแท้ ไม่ว่าผู้ใดจะเชื่อหรือจะไม่เชื่อก็ตาม ก็เป็นความจริง ผู้ใดจะทุกข์หรือไม่ทุกข์ อยู่ที่ความคิดของผู้นั้น ไม่มีผู้ใดที่ไม่ปรารถนาความไม่มีทุกข์ ทุกคนล้วนปรารถนาความไม่มีทุกข์ แต่ไม่ทุกคนที่ยอมรับความจริง ว่าการที่หนีความทุกข์ไม่พ้นนั้นเป็นเพราะคิดไม่เป็น ถ้าคิดให้เป็นจะไม่มีความทุกข์ใดใกล้กรายได้เลย เพราะความคิดนั้นแหละคือกำลังสำคัญที่สามารถทำไม่ให้ทุกข์เกิดได้ ความคิดไม่เป็น หรือความคิดไม่ถูก ของตนเองเท่านั้น ที่ทำให้ความทุกข์กลุ้มรุมใจตน ไม่มีการกระทำคำพูดของผู้ใดอื่นจะอาจทำให้ความทุกข์กลุ้มรุมใจใคร ถ้าใครนั้นเป็นผู้รู้จักคิดให้เป็น รู้จักคิดให้ถูก ความคิดจึงสำคัญนัก ความคิดจึงมีพลังนัก มีอิทธิพลนัก ต่อชีวิตจิตใจผู้คนทั้งปวง ไม่ เลือกชาติชั้นวรรณะ ไม่เลือกสูงต่ำ ร่ำรวยหรือยากดีมีจนเพียงใดก็ตาม ผู้ปรารถนาความเบิกบานสำราญใจไม่เศร้าหมองร้อนรนด้วยความทุกข์ พึงเห็นความสำคัญของความคิดให้มาก เห็นให้จริงใจว่า ความคิดของใครก็ตามที่ถูกต้องเป็นธรรมจะนำไปสู่ความเบิกบานสบายใจแน่นอน สมดังที่ปรารถนาอยู่ทุกเวลานาที ที่มา: บทพระนิพนธ์โดย สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก, หนังสือ “แสงส่องใจ” วัดบวรนิเวศวิหาร ๓ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๓๗
4 พฤษภาคม 2554     |      3106
ธรรมะจรรโลงใจ / "คาถาชินบัญชร"
ในการสวด คาถาชินบัญชร เพื่อให้เกิดอานุภาพยิ่งๆ ขึ้น ก่อนจะเจริญภาวนา จึงขอให้ตั้งนะโม 3 จบ และน้อมจิตระลึกถึงคุณพระคุณสมเด็จโต ด้วยคำบูชาดังนี้ ปุตตะกาโมละเภปุตตัง อัตถิกาเยกายะ ญายะ อิติปิโสภะคะวา ยะมะราชาโน มรณังสุขัง อะระหังสุคะโต ธะนะกาโมละเภธะนัง เทวานังปิยะตังสุตตะวา ท้าวเวสสุวัณโณ นะโมพุทธายะพระคาถาชินบัญชร๑.ชะยา สะนา กะตา พุทธา จะตุ สัจจา สะภัง ระสังเชตะวา มารัง สะวา หะนัง เย ปิวิงสุ นะรา สะภาพระ พุทธเจ้าและพระนราสภาทั้งหลาย ผู้ประทับนั่งแล้วบนชัยบัลลังก์ ทรงพิชิตพระยามาราธิราชผู้พรั่งพร้อมด้วยเสนาราชพาหนะแล้ว เสวยอมตรสคือ อริยสัจธรรมทั้งสี่ประการ เป็นผู้นำสรรพสัตว์ให้ข้ามพ้นจากกิเลสและกองทุกข์ ๒.ตัณหังกะราทะโย พุทธา สัพเพ ปะติฏฐิตา มัยหังอัฏฐะวีสะติ นา ยะกา มัตถะเก เต มุนิส สะรามี ๒๘ พระองค์ คือ พระผู้ทรงนามว่า ตันหังกร เป็นอาทิ พระพุทธเจ้าจอมมุนีทั้งหมดนั้น ๓.สีเส ปะติฏฐิโต มัยหัง สังโฆ ปะติฏฐิโต มัยหังพุทโธ ธัมโม ทะวิโล จะเน อุเร สัพพะคุณา กะโรข้า พระพุทธเจ้าขออัญเชิญมาประดิษฐานเหนือเศียรเกล้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประดิษฐานอยู่บนศรีษะ พระธรรมอยู่ที่ดวงตาทั้งสอง พระสงฆ์ผู้เป็นอากรบ่อเกิดแห่งสรรพคุณอยู่ที่อก ๔.หะทะเย เม อะนุรุทโธ โกณฑัญโญ ปิฏฐิภา คัสสะมิงสารีปุตโต จะ ทักขิเณ โมคคัลลาโน จะวา มะเกพระอนุรุทธะอยู่ที่ใจ พระสารีบุตรอยู่เบื้องขวา พระโมคคัลลาน์อยู่เบื้องซ้าย พระอัญญาโกณฑัญญะอยู่เบื้องหลัง ๕.ทักขิเณ สะวะเน มัยหัง กัสสะโป จะมะหา นาโมอาสุง อานันทะราหุโล อุภาสุง วามะโส ตะเกพระอานนท์กับพระราหุลอยู่หูขวา พระกัสสปะกับพระมหานามะอยู่ที่หูซ้าย ๖.เกสะโต ปิฏฐิภา คัสสะมิง นิสินโน สิริสัม ปันโนสุริโย วะ ปะภัง กะโร โสภีโต มุนิปุง คะโวมุนีผู้ประเสริฐ คือ พระโสภิตะผู้สมบูรณ์ด้วยสิริดังพระอาทิตย์ส่องแสง อยู่ที่ทุกเส้นขน ตลอดร่างทั้งข้างหน้าและข้างหลัง ๗.กุมาระกัสสะโป เถโร โส มัยหัง วะทะเน นิจจังมะเหสี จิตตะวา ทะโก ปะติฏฐาสิ คุณา กะโรพระเถระกุมาระกัสสปะผู้แสวงบุญทรงคุณอันวิเศษ มีวาทะอันวิจิตรไพเราะอยู่ปากประจำ ๘.ปุณโณ อังคุลิมาโร จะ เถรา ปัญจะอิเม ชาตาอุปาลี นันทะสี วะลี นะลาเต ติละกา มะมะพระปุณณะ พระอังคุลิมาล พระอุบาลี พระนันทะ และพระสีวลี พระเถระทั้ง ๕ นี้ จงปรากฏเกิดเป็นกระแจะจุณเจิมที่หน้าผาก ๙.เสสา สีติ มะหาเถรา เอเตสีติ มะหาเถรา ชะลันตา สีละเต เชนะวิชิตา ชินะสา วะกา ชิตะวันโต ชิโน ระสา อังคะมังเค สุสัณ ฐิตาส่วน พระอสีติมหาเถระที่เหลือ ผู้มีชัยและเป็นพระโอรสเป็นพระสาวกของพระพุทธเจ้าผู้ทรงชัย แต่ละองค์ล้วนรุ่งโรจน์ด้วยเดชแห่งศีลให้ดำรงอยู่ทั่วอวัยวะน้อยใหญ่ ๑๐.ระตะนัง ปุระโต อาสิ ธะชัคคัง ปัจฉะโต อาสิทักขิเณ เมตตะสุต ตะกัง วาเม อังคุลิมา ละกังพระรัตนสูตรอยู่เบื้องหน้า พระเมตตาสูตรอยู่เบื้องขวา พระอังคุลิมาลปริตรอยู่เบื้องซ้าย พระธชัคคสูตรอยู่เบื้องหลัง ๑๑.ขันธะโม ระปะริตัญ จะ อากาเส ฉะทะนัง อาสิ อาฏานาฏิยะสุต ตะกัง เสสา ปาการะ สัณฐิตา พระขันธปริตร พระโมรปริตร และพระอาฏานาฏิยสูตรเป็นเครื่องกางกั้นดุจหลังคาอยู่บนนภากาศ ๑๒.ชินานา นาวะระสัง ยุตตา วาตะปิตตาทิสัญ ชาตาสัตตัปปาการะลัง กะตา พาหิรัช ฌัตตุปัท ทะวาอนึ่ง พระชินเจ้าทั้งหลาย นอกจากที่ได้กล่าวมาแล้วนี้ ผู้ประกอบพร้อมด้วยกำลังนานาชนิด มีศีลาทิคุณอันมั่นคง คือ สัตตะปราการเป็นอาภรณ์มาตั้งล้อมเป็นกำแพงคุ้มครองเจ็ดชั้น ๑๓.อะเสสา วินะยัง ยันตุ วะสะโต เม สะกิจเจ นะอะนันตะ ชินะเต ชะสา สะทา สัมพุทธะปัญชะเรด้วย เดชานุภาพแห่งพระอนันตชินเจ้า ไม่ว่าจะทำกิจการใดๆ เมื่อข้าพระพุทธเจ้าเข้าอาศัยอยู่ในพระบัญชรแวดวงกรงล้อมแห่งพระสัมมา สัมพุทธเจ้า ขอโรคอุปัทวทุกข์ทั้งภายนอกและภายใน อันเกิดแต่โรคร้าย คือ โรคลมและโรคดีเป็นต้น เป็นสมุฏฐาน จงกำจัดให้พินาศอย่าให้เหลือ ๑๔.ชินะ ปัญชะระ มัชฌัมหิ สะทา ปาเลนตุมัง สัพเพวิหะรันตัง มะหิี ตะเล เต มะหาปุริสา สะภาขอ พระมหาบุรุษ ผู้ทรงพระคุณอันล้ำเลิศทั้งปวงนั้น จงอภิบาลข้าพระพุทธเจ้า ผู้อยู่ในภาคพื้น ท่ามกลางพระชินบัญชร ข้าพระพุทธเจ้าได้รับการคุ้มครองปกปักรักษาภายในเป็นอันดี ฉะนี้แล ๑๕.อิจเจวะมันโต สุคุตโต สุรักโข ธัมมานุภาเวนะ ชิตา ริสังโฆ สัทธัมมานุภาวะ ปาลิโตชินานุภาเวนะ ชิตุปัททะโว สังฆานุภาเวนะ ชิตันตะ ราโย จะรามิ ชินะ ปัญชะเรติ ฯข้า พระพุทธเจ้าได้รับการอภิบาลด้วยคุณานุภาพแห่งสัทธรรม จึงชนะเสียได้ซึ่งอุปัทวอันตรายใดๆ ด้วยอานุภาพแห่งพระชินะพุทธเจ้า ชนะข้าศึกศัตรูด้วยอานุภาพแห่งพระธรรม ชนะอันตรายทั้งปวงด้วยอานุภาพแห่งพระสงฆ์ ขอข้าพระพุทธเจ้าจงได้ปฏิบัติ และรักษาดำเนินไปโดยสวัสดีเป็นนิจนิรันดรเทอญฯ
1 มกราคม 2557     |      3572
ธรรมะจรรโลงใจ / "วันสำคัญทางพระพุธศาสนา"
วันสำคัญในพระพุทธศาสนา เป็นวันที่มีเหตุการณ์ที่สำคัญ อันเนื่องด้วยพระรัตนตรัย คือพระพุทธเจ้า พระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า และพระสงฆ์สาวกของพระพุทธเจ้า เหตุการณ์ที่สำคัญดังกล่าว เป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่พุทธศาสนิกชนทุกหมู่เหล่าคือบริษัทสี่อันได้แก่ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก และอุบาสิกา ให้น้อมรำลึกถึงคุณของพระรัตนตรัยในหลักที่สำคัญ เพื่อนำไปประพฤติปฏิบัติ เพื่อจรรโลงให้พระพุทธศาสนา ดำรงคงอยู่สถิตสถาพร เป็นคุณประโยชน์อันยิ่งใหญ่แก่ตนเองและแก่สัตว์โลกทั้งปวง ซึ่งมิใช่จำกัดอยู่เพียงมนุษยชาติเท่านั้น วันสำคัญในพระพุทธศาสนา ตามลำดับความสำคัญ และตามลำดับเวลาที่เกิดขึ้นคือ วันวิสาขบูชา วันอาสาฬหบูชา วันมาฆบูชา วันเข้าพรรษา และออกพรรษา
1 มกราคม 2557     |      4021
ธรรมะจรรโลงใจ / "ธรรมะสอนใจ"
ธรรมะเย็นใจ : สอนใจตัวเองก่อนเมื่อเราเป็นผู้ใหญ่  เป็นครู  เป็นพ่อแม่มีลูกน้อง มีลูกศิษย์ มีลูกสมมติว่าเราเป็นพ่อแม่มีลูกเมื่อลูกทำผิดจริง ๆ แล้วเราโกรธ ใจร้อน อย่าเพิ่งสอนลูกสอนใจตัวเองให้ระงับอารมณ์ร้อน ให้ใจเย็น ใจดีมีเมตตาก่อน จนรู้สึกมั่นใจว่าใจเราพร้อมแล้วและดูว่าลูกพร้อมที่จะรับฟังไหม ถ้าเราพร้อมแต่ลูกยังไม่พร้อม ก็ยังไม่ต้องพูด เพราะไม่เกิดประโยชน์เราพร้อมที่จะสอน เขาพร้อมที่จะฟังจึงจะเกิดประโยชน์เป็นการสอนถ้าเราสังเกตุดู บางครั้งใจเรารู้สึกเหมือนอยากจะสอนแต่ความเป็ฯจริงแล้วเราเพียงอยากระบายอารมณ์ของเราสิ่งที่เราพูดแม้เป็นเรื่องจริง แต่ก็แฝงด้วยความโกรธเพราะยังเป็นความใจร้อน มีตัณหาถ้าใจเราโกรธ พูดเหมือนกัน พูดคำเดียวกัน นั่นคือโกรธถ้าใจเราดี ใจเขาดี คำพูดของเราเป็นประโยชน์ นั่นคือสอนเมื่อเราอยู่ในสังคม สิ่งที่ต้องระวังคือ หากเห็นใครทำผิดอย่ายึดมั่นถือมั่นในความรู้สึกและความคิดของตนอย่ายินดี อย่ายินร้าย ใจเย็น ๆ  ไว้ก่อนพยายามอบรมใจตนเองว่าธรรมชาติของคนเรา มักจะมองข้ามความผิดของตนเองชอบจับผิดแต่คนอื่นมองเห็นความผิดของคนอื่นเหมือนภูเขาเห็นความผิดตนเท่ารูเข็มตดคนอื่นเหม็นเหลือทนตดตนเองเหม็นไม่เป็นไรปากคนอื่นเหม็นเหลือทนปากของตนเหม็นไม่รู้สึกอะไรเรามักทุ่มใจ ไปอยู่ที่ความรู้สึกนึกคิดของตนเองอย่าเชื่อความรู้สึก อย่าเชื่ออารมณ์ อย่ายินดี ยินร้ายพยายามรักษาใจเย็น  ใจดี ใจกลาง ๆปกติเราทำผิดเหมือนกัน เท่ากัน หรืออาจจะมากกว่าเขาแต่ความรู้สึกของเรามักจะมากกว่าเขาและไม่เห็นความผิดของตัวเองเลยน่ากลัวจริง ๆ สังเกตุดู คนที่ขี้บ่น ขี้โมโหว่าคนอื่นทำอะไรไม่ดี ไม่ถูกตัวของเขาเอง คิดดี พูดดี ทำดีไหม....ก็อาจจะไม่เราเองก็เหมือนกัน เมื่อเราเกิดอารมณ์ไม่พอใจอย่าเชื่อความรู้สึกให้ระงับอารมณ์เสีย ทำใจเป็นกลาง ๆ ไว้อย่าเชื่อความรู้สึกอย่าเชื่ออารมณ์อย่ายินดียินร้ายธรรมะของพระอาจารย์มิตซูโอะ  เควสโก วัดสุนันทวนารามบ้านท่าเตียน ตำบลไทรโยค อำเภอไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรีจากหนังสือเหตุสมควรโกรธ....ไม่มีในโลก
1 มกราคม 2557     |      4253
ธรรมะจรรโลงใจ / "เทคนิคมองโลกในแง่ดี"
เครียด เครียด เครียด ......... เครียด เครียด เครียด ชีวิตประจำวันของคนทำงานทำให้ดัชนีความเครียดของคนไทยพุ่งสูงปรี๊ด ความเครียดทำให้สุขภาพเราแย่ลง ทำให้เราป่วยง่ายขึ้น ที่สำคัญสำหรับสาวๆ เครียดมากๆทำให้หน้าแก่ก่อนวัยได้นะ เมื่อเรารู้สึกเครียดร่างกายเราจะหลั่งฮอร์โมน Adrenaline จากต่อมหมวกไต ถ้าเครียดมากก็หลั่ง Adrenaline มากขึ้นฮอร์โมนความเครียดก็จะไปยับยั้งการทำงานของอวัยวะสำคัญทั้งหมด เช่นหัวใจ ไต ตับ ปอด ทำให้อวัยวะสำคัญของเราเสื่อมลงอย่างรวดเร็ว สุดท้ายก็พร้อมใจกันหยุดทำงานเพราะฮอร์โมนความเครียดไปทำให้ภูมิต้านของร่างกายเราต่ำลง ต่ำลง เรียกว่าโรคเครียดนอกจากทำแก่ง่ายแล้วยังทำให้ถึงตายได้นะเนี่ย - ผ่อนคลายความเครียดด้วยการทำสมาธิ การทำสมาธิถือได้ว่าเป็นการผ่อนคลายความเครียดที่ลึกซึ้งที่สุด สมาธิทำให้จิตใจสงบนิ่ง แต่มีสติ หยุดความคิดที่ฟุ้งซ่าน วิตกกังวล หรืออารมณ์ด้านลบทั้งหลาย เมื่อเราทำสมาธิจะรู้สึกสบายขึ้นเพราะจะมี Hormoneชื่อ Endorphins หลั่งออกมาในขณะที่จิตใจสงบนิ่ง ฮอร์โมน Adrenaline จากต่อมหมวกไต ก็จะหยุดหลั่ง และในขณะนั้นเองเมื่อจิตสงบสมองส่วน Hypothalamus จะสั่งให้เม็ดเลือดขาวแข็งแรงขึ้น ภูมิต้านทานของเราก็จะสร้างเพิ่มขึ้นหลังจากถูกยับยั้งด้วยฮอร์โมนความเครียด การทำสมาธินี้ดีมาก มาก สำหรับคนที่กำลังบำบัดมะเร็งเพราะ เมื่อภูมิต้านทานกระเตื้องขึ้นการกำจัดcell มะเร็งก็จะเป็นไปตามที่ต้องการ - ทำสมาธิแบบไหนดี? การทำสมาธิที่สามารถบำบัดโรคที่เกิดจากความเครียด ความกังวล ไม่ใช่โรคที่เกิดจากเชื้อโรคโดยตรง แต่สามารถรักษาใจที่เป็นทุกข์อันเกิดจากโรคได้ วิธีฝึกสมาธิบำบัดมีหลายวิธี ได้แก่ การนั่งภาวนา เดินจงกรม การแผ่เมตตา การอธิษฐานจิต การฝึกใช้พลังภายในร่างกาย การใช้พลังภายนอก การฝึกเพ่งลูกแก้ว และอย่างน้อยควรทำวันละ 2 ครั้ง ถ้าทำได้ - ท่าที่สบายที่สุด จะนั่งขัดสมาธิหรือจะนอนหงายวางแขนไว้ข้างตัวก็ได้ ให้เป็นท่าที่เรารู้สึกสบายตัวที่สุด แล้วก็เลือกสถานที่ที่เรารู้สึกผ่อนคลาย สบายๆไม่ร้อนไม่หนาวเกินไป อุณหภูมิในห้องสบาย ๆ หลับตาลงจะได้ตัดตัวเองออกจากโลกภายนอก จิตจะได้สงบง่ายขึ้น แล้วเริ่มด้วยการกำหนดลมหายใจโดยสูดหายใจเข้าช้า ๆ ให้ท้องพอง หายใจออกช้า ๆให้ท้องแฟบ สัก 3 ครั้ง ให้สังเกตลมที่ผ่านเข้าออกทางจมูกว่ากระทบถูกอะไรบ้างจากนั้นให้หายใจให้สบาย กำหนดจิตของตนไปรับรู้ลมหายใจเข้าออก โดยไม่ต้องสนใจเสียงรอบข้าง ให้รับรู้เฉย ๆ ถ้าจิตมันจะวอกแวกนึกนั่นนึกนี่ แว่บไปหาเพื่อนคนโน้นคนนี้ นึกห่วงงานที่นั่นที่นี่บ้างก็ดึงสมาธิกลับมาอยู่กับลมหายใจ แรก ๆ อาจทำยากมาก เหมือนเราหัดเดินตั้งไข่ครั้งแรก ล้มบ้าง ลุกบ้างแต่ถ้าพยายามเข้าในที่สุดเราก็จะเดินได้การทำสมาธิก็เช่นกัน ถ้าเราพยายามขยันดึงจิตกลับมาอยู่กับลมหายใจ ทำซ้ำ ๆ สม่ำเสมอ ในที่สุดจิตก็จะเชื่อง และเริ่มนิ่ง เมื่อเข้าถึงสมาธิก็จะได้ความรู้สึกปีติรู้สึกสบายอย่างที่ไม่เคยรู้สึกมาก่อน เพราะ ฮอร์โมนEndorphins หลั่งออกมา และ ฮอร์โมนความเครียด Adrenaline ที่ต่อมหมวกไตก็จะหยุดหลั่งออกมา และเมื่อเข้าสมาธิได้แล้วก็ควรทำเป็นประจำอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง ๆ ละไม่ต่ำกว่า 15 นาที- เทคนิคการฝึกหายใจ โดยปกติแล้วการหายใจด้วยอก ชีพจรจะเต้นเร็ว เหนื่อยง่าย ต้องหายใจถี่ๆแต่ถ้าหายใจด้วยท้องชีพจรจะเต้นช้า ในทางวิทยาศาสตร์เราอธิบายได้ว่าเป็นการกระตุ้นกะบังลม ที่กะบังลมจะมีเส้นประสาทวากัส (Vagus) ซึ่งเส้นประสาทตัวนี้เป็นพาราซิมพาเทติก เป็นเส้นประสาทมีผลต่อการผ่อนคลายของกล้ามเนื้อ เพิ่มการทำงานของลำไส้ เส้นประสาทวากัส (Vagus) จะส่งคลื่นไปที่สมอง ทำให้หลอดเลือดขยาย ความดันเลือดลดลง ชีพจรเต้นช้า หายใจช้า ดังนั้นเราจึงต้องฝึกหายใจลงไปที่ท้องแทน เทคนิคการผ่อนคลายกล้ามเนื้อ ความเครียดทำให้กล้ามเนื้อทุกระบบในร่างกายหดตัว เวลาเครียดเรามักจะทำหน้านิ่วคิ้วขมวด กำหมัด กัดฟัน ทุกครั้งที่รู้สึกเครียด ทำให้กล้ามเนื้อเกร็งตัวเกิดอาการเจ็บปวด เช่น ปวดต้นคอ ปวดหลัง ปวดไหล่ - การฝึกคลายกล้ามเนื้อจะช่วยลดอาการหดเกร็งของกล้ามเนื้อลง เพราะในขณะที่ฝึก จิตใจ ของเราจะจดจ่ออยู่กับการคลายกล้ามเนื้อ ความคิดฟุ้งซ่าน และความวิตกกังวลก็ลดลง ช่วยให้จิตใจจะมีสมาธิมากขึ้นวิธีการฝึก เลือกนั่งในท่าที่สบาย เลือกเสื้อผ้าที่สวมใส่สบาย ถอดรองเท้า หลับตา ทำใจให้ว่าง ตั้งใจจดจ่ออยู่ที่กล้ามเนื้อส่วนต่างๆ 10 กลุ่ม โดยการปฏิบัติดังนี้คือ1. มือและแขนขวา โดยกำมือ เกร็งแขน แล้วคลาย 2. มือและแขนซ้าย ทำเช่นเดียวกัน 3. หน้าผาก เลิกคิ้วสูงแล้วคลาย ขมวดคิ้วแล้วคลาย 4. ตา แก้ม จมูก ให้หลับตาแน่น ย่นจมูก แล้วคลาย 5. ขากรรไกร ลิ้น ริมฝีปาก โดยกัดฟัน ใช้ลิ้นดันเพดานปากแล้วคลาย เม้มปากแน่นแล้วคลาย 6. คอ โดยก้มหน้าให้คางจรดคอแล้วคลาย เงยหน้าจนสุดแล้วคลาย 7. อก ไหล่ และหลัง โดยหายใจเข้าลึกๆกลั้นไว้ แล้วคลาย ยกไหล่สูงแล้วคลาย 8. หน้าท้องและก้น โดยการแขม่วท้อง แล้วคลาย ขมิบก้นแล้วคลาย 9. เท้าและขาขวา โดยเหยียดขา งอนิ้ว แล้วคลาย เหยียดขา กระดกปลายเท้าแล้วคลาย 10. เท้าและขาซ้าย ทำเช่นเดียวกันข้อแนะนำ ระยะเวลาที่เกร็งกล้ามเนื้อ ให้น้อยกว่าระยะเวลาที่ผ่อนคลาย เช่น เกร็ง 3-5 วินาที ผ่อนคลาย 10-15 วินาที ควรฝึกประมาณ 8-12 ครั้ง เพื่อให้เกิดความชำนาญ เมื่อคุ้นเคยกับการผ่อนคลายแล้ว ให้ฝึกคลายกล้ามเนื้อได้เลยโดยไม่ต้องเกร็งก่อนหรืออาจเลือกคลายกล้ามเนื้อเฉพาะส่วนที่มีปัญหาก็ได้ เช่น บริเวณใบหน้า คอ หลัง ไหล่ เป็นต้น ไม่จำเป็นต้องคลายกล้ามเนื้อทั้งตัวแต่ถ้ามีเวลาทำได้ทั้งหมดก็จะดีมากมากสำหรับตัวคุณเอง - ฝึกสมาธิประจำ แก้ได้หลายโรค หากฝึกสมาธิเป็นประจำ จิตใจก็เบิกบาน สมองแจ่มใส จิตใจเข้มแข็ง อารมณ์เย็น พร้อมตลอดเวลาไม่ว่าจะมีปัญหาอะไรมากระทบ สามารถแก้ปัญหาต่างๆ ด้วยความมั่นใจในตัวเอง เมื่อมีสมาธิที่เข้มแข็ง ปัจจุบันมีการวิจัยและค้นพบข้อดีของการทำสมาธิเช่น ช่วยปรับสภาวะสมดุลของร่างกายให้เป็นปกติ ทำให้อัตราการหายใจและชีพจรช้าลงทำให้คลื่นสมองสงบ กล้ามเนื้อผ่อนคลายตั้งแต่ศีรษะจรดเท้า ระดับฮอร์โมนที่ถูกระตุ้นจากความเครียดลดลง แก้ปัญหานอนไม่หลับได้ถึงร้อยละ 75 และช่วยให้ผู้ที่ปวดกล้ามเนื้อ ปวดข้อ ใช้ยาแก้ปวดลดลงจาก เดิมร้อยละ 34ช่วยให้ผู้ป่วยโรคมะเร็งและโรคเอดส์ มีอาการทุกข์ทรมานลดน้อยลงกว่าการรักษาเฉพาะทางทางยา ช่วยบรรเทาอาการปวดศีรษะไมเกรน ความถี่หรือความรุนแรงของอาการจะลดลงร้อยละ 32 และยังพบอีกว่าในการรักษาผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจตีบตัน ผู้ที่มีความเชื่อมั่นในศาสนาจะหายเร็ว กว่า ตรงกันข้ามกับคนที่ไม่นับถือศาสนาอะไรเลย จะมีอัตราการตายมากกว่าผู้นับถือศาสนาถึง 3 เท่าในสหรัฐอเมริกา มีงานวิจัยของมหาวิทยาลัยวิสคอนซิล และมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย พบผลตรงกันว่า ชาวพุทธที่นั่งสมาธิเป็นประจำ สมองในส่วนที่ทำงานเกี่ยวข้องกับอารมณ์ที่ดี และ ความคิดด้านบวกจะทำงานกระฉับกระเฉงกว่า ช่วยผ่อนคลายความเครียด และทำให้สมองส่วนที่เป็นศูนย์กลางความทรงจำด้านร้ายสงบลง และการนั่งสมาธิอย่างสม่ำเสมอ จะช่วยให้อารมณ์แปรปรวน ตกใจ เกรี้ยวกราด หรือหวาดกลัวลดลงด้วย แพทย์โรคหัวใจจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ได้ให้คนไข้โรคหัวใจฝึกสมาธิระหว่างบำบัดด้วยยาไปด้วยและได้ผลเป็นที่น่าพอใจ เพราะทำให้ความดันโลหิตและความเครียดลดลงอย่างมาก ฉะนั้นถ้าอยากมีสุขภาพดี ไม่แก่ง่าย ตายเร็ว ก็ต้องเริ่มการฝึกทำสมาธิและต้องเริ่มทำตั้งแต่เดี๋ยวนี้เลย อย่าได้ผัดผ่อนเด็ดขาดที่มา http://www.dhammajak.net/smati/36.html
1 มกราคม 2557     |      4983
ธรรมะจรรโลงใจ / "เทคนิคมองโลกในแง่ดี"
คนไทยสมัยนี้เครียดกันง่ายจัง วันๆ หนึ่งต้องพบกับความทุกข์ใจ ไม่สบายใจ กังวลใจ กันหลายๆ ครั้ง ไม่เหมือนกับคนไทยสมัยโบราณที่กว่าจะเกิดความเครียดขึ้นมาได้ โน่น..ต้องมีเสือบุกเข้ามากินวัว โจรบุกเข้ามาปล้น ถึงจะเกิดความเครียดกันทีหนึ่ง เรียกว่าวันๆ หนึ่งแทบจะไม่รู้จักความเครียดกันเลย ใบหน้าคนไทยสมัยก่อนจึงมีแต่รอยยิ้ม พวกฝรั่งซึ่งเป็นคนมาจากวัฒนธรรมอื่นมาเห็นเข้าพากันแปลกใจว่าทำไมคนไทยอารมณ์ดีกันจัง ก็เลยตั้งชื่อว่าให้ว่า "สยามเมืองยิ้ม"นอกจากนี้คนไทยยังมีวิธีคิดที่ได้รับอิทธิพลจากพุทธศาสนา ให้รู้จักคิดปล่อยวาง คิดให้สบายใจ ในยามที่ต้องพบกับปัญหาหนักๆ ในชีวิตประจำวัน ซึ่งปัจจุบันนี้ยังเหลือร่องรอยวิธีคิดเหล่านี้อยู่ในนิสัยคนไทยทั่วๆ ไปบ้าง แต่บางคนก็ลืมไปแล้ว หรือคนรุ่นใหม่อาจจะไม่รู้จัก วันนี้เครือข่ายฯจึงขอนำวิธีคิดเหล่านี้นำมาปรับปรุงแก้ไขให้มีความเป็นพุทธ และ ให้มีความทันสมัย เหมาะกับคนยุคปัจจุบันมากขึ้น นำเสนอเป็นเทคนิควิธีคิดมองโลกในแง่ดีสำหรับคนยุคไอที ดังต่อไปนี้ ยามพบอุปสรรคในการทำงานไม่เป็นไร..เอาใหม่ : คำพูดนี้สำคัญมาก เอาไว้ใช้อุทาน เวลาท่านต้องประสบกับปัญหาความล้มเหลวในการทำงานหรือ เจอข้อผิดพลาดอะไรขึ้นมาอย่างไม่คาดฝัน หรือ เวลาเพื่อนร่วมงานทำงานผิดพลาด คำพูดนี้จะเป็นเครื่องปลอบใจและให้กำลังใจได้เป็นอย่างดี คำว่า "ไม่เป็นไร" เป็นคำที่ทำให้จิตใจปล่อยวางจากปัญหา ไม่ถูกบีบคั้นจากปัญหา คำว่า "เอาใหม่" เป็น คำพูดที่ปลุกคุณธรรมข้อ "วิริยะ" แปลว่า เพียรสู้งาน ปลุกใจให้เราคิดสู้ปัญหา ไม่ท้อถอย ยามพบกับเหตุการณ์ร้ายที่ไม่พึงปรารถนาโชคดีนะเนี่ย : ไม่ว่าคุณเจอะเจอกับความทุกข์กายทุกข์ใจอะไรในชีวิตประจำวัน ให้คิดเสียว่าสิ่งเลวร้ายที่เราต้องประสบทุกๆ ครั้ง มันไม่ได้ร้ายกาจจนถึงที่สุดแม้สักอย่างเดียว มันเป็นความ"โชคดี"ของเราจริงๆ ที่ไม่เจอหนักกว่านี้ ยกตัวอย่าง เดินหัวชนเสาหัวปูด อุทานว่า "อูย ! ..โชคดีนะเรา หัวยังไม่แตก" โดนตัดเงินเดือน พูดกับตัวเองว่า "เขาไม่ไล่เราออก ก็บุญแล้ว ถือว่ายังโชคดีนะเนี่ย" ทำกาแฟร้อนๆ หกรดขากางเกง พูดกับตัวเองว่า "เหอ..ๆ โชคดี ที่มันไม่หกรดเป้ากางเกงเรา" ยามมีปัญหากับเพื่อนมนุษย์ด้วยกันเขายังดีนะ : เวลาคุณมีปัญหากับเพื่อนมนุษย์ เช่นเพื่อนร่วมงาน คนข้างบ้าน ฯลฯ เช่น บางคนอาจจะทำงานไม่ถูกใจ บางคนอาจจะทำอะไรผิดใจคุณ หรือ บางคนอาจจะมีเจตนาไม่ดีกับคุณ ให้คิดเช่นเดียวกันว่าสิ่งที่เขาทำนั้นมันก็ยัง ไม่ได้ร้ายกาจถึงที่สุดกับคุณแต่อย่างใด มันยังมีแง่ดีๆ ให้เราคิดถึงเขาอยู่เสมอ ยกตัวอย่าง คนข้างบ้านนินทาเรา เราก็บอกกับตัวเองว่า โอ้... นี่เขายังดีนะที่ไม่ถึงกับมาดักทำร้ายเรา มีคนมาขโมยปากกาที่โต๊ะทำงานเราไป เราก็คิดว่า เจ้าขโมยนี่ยังดี ที่ไม่ยกเครื่องคอมพ์เราไป สาวหักอก เราก็คิดว่า เธอยังดีนะเนี่ย ที่ไม่ควงคู่แข่งมาเย้ยเราให้เจ็บใจหนักไปกว่านี้ เพื่อนร่วมงานเอาเปรียบ เราก็คิดว่า เขาก็ยังดีที่ไม่ใส่ร้ายป้ายสีเราข้างหลัง เทคนิคคิดเมื่อเจอปัญหาต่างๆ ในชีวิตประจำวัน เอ๊ะ...! ตรงนี้เราได้อะไร : เป็นการตั้งคำถามเพื่อให้จิตตั้งแง่คิดเพื่อมุ่งหาความรู้ทันทีที่ได้พบกับปัญหาต่างๆ ในชีวิตประจำวัน อาทิเช่น นาย ก. เดินตกท่อ ขาแข้งถลอก นาย ก. ทั้งๆ ที่เจ็บปวด กลับตั้งคำถามขึ้นมาในใจว่า เราเดินตกท่อตรงนี้ เราได้อะไร ! เท่านั้นเองคำตอบต่างๆ ก็พรั่งพรูออกมามากมาย อาทิเช่น ก. เราได้ดูแลรักษาตัวเองอีกแล้วดีจัง ไม่ได้ดูแลตัวเองมานาน ข. เราได้บทเรียนซาบซึ้งกับคำว่า "อย่าไว้ใจทาง อย่าวางใจคน จะจนใจเอง" (เคยเดินมาดีๆ ทุกวัน วันนี้ใครกันดันมาเปิดฝาท่อ) ค. มันทำให้เราได้ไอเดียเกี่ยวการทาแถบสีสะท้อนแสงตรงขอบท่อ เพื่อคนจะได้สังเกตเห็นได้แต่ไกลๆ วิธีคิดเช่นนี้จะทำให้เรารู้สึกเลยว่า ชีวิตนี้มีแต่ได้ ไม่มีเสีย คือ แม้ว่าเราจะพบกับสิ่งที่ไม่น่าพึงปรารถนาก็ตาม แต่ถ้าหากว่าเรารู้จักตั้งคำถามเช่นนี้เป็นนิสัย เราก็จะได้สิ่งที่ดีๆ มากมายจนบางครั้งเราอาจจะต้องนึกขอบคุณที่ได้เจอกับปัญหาบ่อยๆ เลยทีเดียว ที่มา http://www.budpage.com/
1 มกราคม 2557     |      15807
ธรรมะจรรโลงใจ / ส่องกล้องมองคำว่า
ส่องกล้องมองคำว่า"ทุกข์" "ความทุกข์ทั้งหลายที่เป็นความทุกข์ทางใจนี้ เป็นเพราะว่าเรามองดูปรากฏการณ์ในชีวิตด้วยความไม่ชัดเจน" "ยังไม่สนใจธรรมะ เพราะชีวิตยังไม่มีทุกข์"        คนจำนวนมากคิดเช่นนี้ เพราะคำว่า "ทุกข์" นั้นฟังดูเป็นเรื่องหนักหนาสาหัสในชีวิต ทั้งที่ความจริงแล้ว ความหมายของคำนี้ในธรรมะของพุทธศาสนามีความละเอียดอ่อนยิ่งนัก หากศึกษาจริงๆ แล้วจะรู้สึกทึ่งและอัศจรรย์ใจในอัจฉริยภาพของตัวผู้ค้นพบยิ่งนัก จะรู้สึกอย่างไรหากบอกว่าในทุกๆ จังหวะและท่วงทำนองของการดำเนินชีวิตมีทุกข์แฝงอยู่ทุกขณะ ไม่รู้จัก-อย่ารีบบอกว่าไม่มี อย่าเพิ่งเถียงถ้ายังไม่ได้คำอธิบายในเรื่องนี้ของ ดร.ระวี ภาวิไล ที่ส่องกล้องมองดูคำว่าทุกข์ได้ละเอียดไม่แพ้การส่องกล้องดูดาวบนท้องฟ้าเลย "คำว่าปัญหากับความทุกข์ในทางพระพุทธศาสนาใช้แทนกันได้ คำว่าปัญหาเป็นคำสมัยใหม่ เราจะพิจารณาได้ว่าสิ่งที่เราเรียกว่าปัญหานี้คือ ความทุกข์นั่นเอง แต่เวลาพูดความทุกข์จะดูเหมือนหนัก พูดคำว่าปัญหาเป็นเรื่องทันสมัย แล้วเราจะพบว่าสิ่งที่เราต้องแก้ก็คือ ความไม่สะดวกสบายที่ทนได้ยากนั่นเอง "ตามที่บอกว่าชีวิตเป็นความทุกข์เป็นปัญหานั้น ไม่ใช่ว่าการกล่าวเช่นนั้นเป็นการมองโลกในแง่ร้าย แต่เป็นการกล่าวถึงสภาวะที่เป็นจริงในชีวิตของเรา" ไม่เชื่อลองฟังต่อไปได้ "นับตั้งแต่เรารู้สึกตัวลืมตาขึ้นวันหนึ่งๆ จะพบปัญหาที่ต้องแก้ถัดกันไป แก้ปัญหานั้นปัญหาใหม่ก็เข้ามาเรื่อย ถ้าจะสังเกตตั้งแต่เช้า ปัญหาทำอย่างไรเราจะมาถึงที่ทำงานได้โดยเรียบร้อย แม้เมื่อถึงที่ทำงานเราจะพบปัญหารออยู่บนโต๊ะ จะต้องแก้อันนั้นอันนี้เรื่อยไป ชีวิตก็จะเป็นอย่างนี้ "ปัญหาหรือความทุกข์ทางกายนี้เป็นส่วนหนึ่ง แต่ส่งที่น่าจะสังเกตได้ก็คือว่า ส่วนใจมันพลอยไปกับกายมากน้อยแค่ไหน ทั้งที่ส่วนใจก็มีความทุกข์ทางใจอยู่แล้ว คือความเศร้าโศก ความคับแค้นใจ ซึ่งส่วนของจิตใจนี้อาจจะเกิดขึ้นเพราะความทุกข์ทางกายทำให้เกิด หรืออาจเกิดแม้ความทุกข์ทางกายไม่มีก็ได้ "นับเป็นเรื่องที่มีความซับซ้อนในสาเหตุ และสาเหตุเหล่านี้ทางพฤติกรรมสามารถวิเคราะห์ได้ว่าเกิดขึ้นมาอย่างไร แล้วก็รู้หนทางที่จะบรรเทามันลงไป" ในบรรดาความทุกข์ที่แบ่งออกเป็นทางกายและทางใจนั้น อ.ระวีบอกว่า "ความทุกข์ทางใจเกิดขึ้นโดยไม่จำเป็น แล้วเราจะพบว่ามนุษย์ได้สร้างกลไกขึ้นทั้งในตัวเองและสังคม ทำให้เกิดความกดดันและความทุกข์ทางใจขึ้น โดยคนส่วนใหญ่อาจจะมองข้ามไป หรืออาจจะมองไม่เห็น มันก็กลายเป็นปัญหาหรือเป็นทุกข์ ความทุกข์ทางใจเหล่านี้เป็นสิ่งที่การอบรมและการฝึกฝนใจสามารถทำให้มันระงับไปได้" ความทุกข์ทางใจเกิดขึ้นโดยไม่จำเป็น-เป็นประเด็นที่ควรให้ความสนใจเป็นอย่างมาก เพราะถ้าเป็นเช่นนั้นวันหนึ่งๆ คนเราทุกข์ทางใจไปโดยสิ้นเปลืองไม่ใช่น้อย บอกแค่นี้คงไม่ทำให้คิ้วที่ขมวดอยู่คลายออกไปได้ ต้องรับรู้การแจกแจงปฏิบัติการของสิ่งที่เรียกว่าทุกข์เสียก่อน ทุกข์กาย-ทุกข์ใจแน่ กายไม่ทุกข์-ใจทุกข์ไปล่วงหน้า "ตัวอย่างความพัวพันระหว่างทุกข์ทางกายและทุกข์ทางใจที่อาจจะได้พบกันในชีวิตประจำวัน สมมุติว่าเราเป็นเด็กไม่สบายแล้วไปหาหมอ หมอบอกว่าเราเป็นไข้หวัด ต้องฉีดยา ถ้าเด็กคนนั้นเคยฉีดยามาหนหนึ่งแล้ว พอบอกต้องฉีดยาอีกมันเกิดทุกข์ขึ้นมาทันที ความทุกข์ที่ได้รับฟังว่าต้องเอาเข็มมาแทงลงไปในเนื้อ ในขณะนั้นทุกข์ทางกายยังไม่ได้เกิด แต่ทุกข์ทางใจเกิดขึ้นแล้ว อาจจะเริ่มมีอาการเป็นทุกข์ เริ่มน้ำตาคลอ พอหมอเอาเข็มฉีดยาดูดยาออกมาจากหลอดก็เริ่มจะมีความทุกข์ทางกายบ้าง แต่ไม่เจ็บ น้ำตาไหลได้ "เราเป็นผู้ใหญ่รู้สึกแต่คงไม่ถึงกับน้ำตาไหล เห็นหมอทำอย่างนั้นเราก็เริ่มรู้สึก หมอเอาเข็มฉีดยามาบีบยาให้ยามันไล่ แล้วก็เอามาจรดลง แล้วลองนึกทบทวนดูว่าเรารู้สึกอย่างไร จะรู้สึกไม่สบายใจ หมอเริ่มกดเข็ม บางครั้งเราก็มอง บางครั้งเราก็ไม่อยากมอง ลองมองดูและลองพิจารณาดูตอนที่เข็มมันจรด ความทุกข์ทางกายยังไม่เกิดขึ้น แต่เรามีความไม่สบายใจ พอหมอกดเข็มเข้าไปในเนื้อเรา นึกว่าเราเจ็บ แต่ที่จริงถ้าเราเพ่งใจลงไปในขณะเข็มกดลงไปในเนื้อ จะพบว่ามันยังไม่เจ็บ ความทุกข์ทางกายยังไม่มี แต่เมื่อเข็มมันลงไปลึกพอประมาณแล้ว และเมื่อหมอเริ่มกดยาเข้าไป ความเจ็บมันจะมี "ถ้ามีสติอยู่กับปัจจุบัน เจ็บที่แล้วไปอย่าไปนึกถึงมันอีก เจ็บที่กำลังเจ็บดูมัน เจ็บที่ยังไม่มา อย่าเพิ่งไปเจ็บก่อน เราจะพบว่าความเจ็บได้เป็นทุกข์ก้อนใหญ่ที่เราจะต้องแบกไว้ แต่ความเจ็บนั้นมันเป็นชั่วขณะๆ พอหมอถอนเข็มออกแล้วขยี้ตอนนั้นเราจะเจ็บมากชั่วขณะ แล้วก็จะชา แต่ถ้าเราไม่ทำอย่างนั้นจะรู้สึกว่าความเจ็บจริงๆ กับความที่ใจเราเป็นทุกข์มันปนเปกันไปหมด ไม่รู้ส่วนไหนเป็นทุกข์ทางกาย ส่วนไหนเป็นทุกข์ทางใจ "ถ้าเป็นเด็ก เด็กจะร้องก่อนเข็มจะถูก เมื่อถูกเข็มแทงก็ร้องลั่น พอหมอถอนเข็มออกก็ยังร้องอยู่ เพราะโกรธหมอ นี่คือตัวอย่างที่ยกขึ้นมาเพื่อให้เห็นกลไกของสิ่งที่เรียกว่าความทุกข์" "ความทุกข์ทั้งหลายที่เป็นความทุกข์ทางใจนี้ เป็นเพราะว่าเรามองดูปรากฏการณ์ในชีวิตด้วยความไม่ชัดเจน ทำอย่างไรจะเห็นสภาวะชัดเจน ทำอย่างไรจะรู้ทัน"ขอขอบคุณ คอลัมน์ ร้อยเหลี่ยมพันมุม   โดย วีณา โดมพนานครที่มา http://www.dhammajak.net/dhamma/31.html
1 มกราคม 2557     |      4745
ทั้งหมด 3 หน้า