ความมุ่งหมายของการฟังธรรม
ความมุ่งหมายของการฟังธรรมนั้น มีอยู่ ๕ ประการ คือ
* ฟังธรรมเอาบุญ
* ฟังธรรมเอาความรู้
* ฟังธรรมเพื่อเป็นอุปนิสัย
* ฟังธรรมเพื่อปฏิบัติ
* ฟังธรรมเพื่ออุทิศส่วนบุญ
๑. ฟังธรรมเอาบุญ หมายความว่า ฟังธรรมแล้วได้บุญ บุญแปลว่า ชำระ คือ ชำระกายวาจาใจให้สะอาด เพราะกายวาจาใจของคนเราเปื้อนบาป จึงจำเป็นต้องชำระด้วยน้ำ คือ บุญ ดุจชำระเสื้อผ้าที่สกปรกด้วยผงซักฟอกฉะนั้น บาปนั้นมีอยู่ ๓ ขั้น คือ บาปอย่างหยาบ ๑ บาปอย่างกลาง ๑ บาปอย่างละเอียด ๑
บาปอย่างหยาบ คือ ความโลภ ความโกรธ ความหลง ล่วงออกมาทางกาย เช่น ฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติผิดประเวณี และล่วงออกมาทางวาจา เช่น พูดเท็จ พูดคำหยาบ พูดส่อเสียด พูดเพ้อเจ้อ เป็นต้น ต้องชำระด้วยบุญขั้นต้นคือ ศีล
บาปอย่างกลาง คือ นิวรณ์ทั้ง ๕ ได้แก่ กามฉันทะ พอใจในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ๑ พยาบาท ใจโกรธ ใจขุ่น ๑ ถีนมิทธะ ง่วงเหงาหาวนอน ๑ อุทธัจจะกุกกุจจะ ฟุ้งซ่านรำคาญ ๑ วิจิกิจฉา สงสัยลังเลใจ ๑ บาปทั้ง ๕ นี้ ต้องชำระด้วยบุญอย่างกลาง คือ สมาธิ
บาปอย่างละเอียด คือ อนุสัย ได้แก่กิเลสที่นอนดองอยู่ในใจ ดุจขี้ตะกอนอยู่ก้นตุ่มฉะนั้น มีอยู่ ๑๒ ตัว คือโลภะ ๘ โทสะ ๒ โมหะ ๒ อันเป็นส่วนละเอียดติดมาแต่ภพก่อนชาติก่อน ต้องชำระด้วยบุญขั้นละเอียด คือ วิปัสสนาปัญญา
ในขณะที่ท่านทั้งหลายกำลังฟังธรรมอยู่ในขณะนี้ กายกรรม ๓ วจีกรรม ๔ ของแต่ละท่านก็บริสุทธิ์เพราะอำนาจแห่งศีล ศีลแปลว่ารักษากายวาจาให้เรียบร้อย ศีลนี่แหละเป็นบุญขั้นต้น เป็นที่พึ่งเบื้องต้น เป็นแม่ของคุณงามความดีทั้งหลาย และเป็นประมุขของกุศลธรรมทั้งปวง จะฟังรู้เรื่องหรือไม่รู้เรื่องก็ตาม ถ้าตั้งใจฟังแล้วได้บุญทั้งนั้น เพราะจิตดวงนี้เป็นมหากุศล ถ้าตายลงในขณะนี้ก็มีผลให้ไปมนุษย์ก็ได้ ไปเกิดสวรรค์ก็ได้ เช่น แม่ไก่ฟังธรรมถูกฆ่าตาย ได้ไปเกิดเป็นพระราชธิดา กบฟังธรรมถูกฆ่าตายได้ไปเกิดเป็นเทพบุตรชื่อว่า มัณฑูกเทพบุตร ค้างคาว ๕๐๐ ตัว ฟังพระอภิธรรม ตายแล้วได้ไปเกิดในสวรรค์ ผลสุดท้ายได้กลับมาเกิดเป็นมนุษย์ ได้ออกบวชเป็นพระ ได้ฟังพระอภิธรรม ก็ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ทั้งหมด อย่างนี้เรียกว่า ฟังเอาบุญ
๒. ฟังธรรมเอาความรู้ หมายความว่า ฟังแล้วต้องจำได้ ใครจำได้มากเท่าไร ก็เป็นความรู้ของคนนั้น ถ้าจำไม่ได้ต้องจดไว้ บันทึกไว้ หรืออัดใส่เทปไว้ เปิดฟังบ่อยๆ ฟังจนจำได้ สมดังคำโบราณท่านสอนลูกหลานไว้ว่า “เห็นแล้วจดไว้ ทำให้แม่นยำ เหมือนทราบแล้วจำ ไว้ได้ทั้งมวล เมื่อหลงลืมไป จักได้สอบสวน คงไม่แปรปรวน จากที่จดลง”
๓. ฟังธรรมเพื่อเป็นอุปนิสัย หมายความว่า ในขณะที่ฟังอยู่นั้น ได้ยินบ้างไม่ได้ยินบ้าง มีเสียงอื่นรบกวน ทำให้หนวกหูบ้าง ง่วงนอนบ้าง กำลังทำกิจอย่างอื่น เช่น ล้างถ้วยล้างชามบ้าง โขลกหมากบ้าง ถึงอย่างนั้นก็ยังเป็นบุญอยู่ ตัวอย่าง ในกาลแห่งพระพุทธเจ้าพระนามว่า กัสสปะ งูเหลือมตัวหนึ่งได้ยินเสียงพระนักอภิธรรมกำลังท่องอายตนะกถาอยู่ ถือเอานิมิตในเสียงนั้น ตายแล้วได้ไปเกิดในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เมื่อพระพุทธเจ้าของเราปรินิพพานแล้ว ได้มาบังเกิดในตระกูลพราหมณ์ ออกบวชเป็นอาชีวกชื่อว่า ชนะโสณะ ได้ฟังธรรมย่อๆในหัวข้อว่า "อายตนะ" จากพระอุปคุตตเถระ ก็เกิดความเลื่อมใสอย่างแก่กล้า ขอบวชเป็นพระในพระพุทธศาสนา เรียนพระกรรมฐาน เจริญวิปัสสนา จนได้บรรลุมรรคผลนิพพานเป็นพระอรหันต์
๔. ฟังธรรมเพื่อปฏิบัติ หมายความได้ ๒ อย่าง คือ ฟังแล้วจำไว้ มีโอกาสเมื่อใดก็นำไปปฏิบัติได้เมื่อนั้น นี้อย่างหนึ่ง ถ้าเป็นนักปฏิบัติวิปัสสนา สามารถฟังไปปฏิบัติไปพร้อมกันได้เลย เพราะในขณะที่ได้ยินเสียงพระแสดงธรรมอยู่นั้น ขันธ์ ๕ เกิดแล้ว อารมณ์ของวิปัสสนาเกิดแล้ว คือเสียงกับหูเป็นรูปขันธ์ ได้ยินเสียงธรรมะแล้วสบายใจ เป็นเวทนาขันธ์ จำได้เป็นสัญญาขันธ์ แต่งให้เห็นว่าดีหรือไม่ดีเป็นสังขารขันธ์ ได้ยินเป็นวิญญาณขันธ์ ย่อให้สั้นๆก็ได้แก่รูปกับนาม รูปนามนี้แหละเป็นอารมณ์ของวิปัสสนา ดังนั้น นักปฏิบัติวิปัสสนาจึงลงมือปฏิบัติได้ทันที โดยตั้งสติไว้ที่หู ตัวอย่าง พาหิยะทารุจีริยะ ได้ฟังธรรมจากพระพุทธเจ้าที่ตรัสว่า "ได้ยินก็สักว่าแค่ได้ยิน" ไม่ช้าท่านก็ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์
๕. ฟังธรรมเพื่ออุทิศส่วนบุญ หมายความว่า เราตั้งใจฟังธรรมได้บุญแล้ว ก็อุทิศส่วนบุญนั้นให้แก่ บิดามารดา ครู อาจารย์ ท่านผู้มีบุญคุณ ท่านผู้มีพระคุณ.
ที่มา พระธรรมเทศนาอริยธนกถา โดย พระธรรมธีรราชมหามุนี (โชดก ญาณสิทธิ) วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฏิ์ กรุงเทพมหานคร ๒๕๒๔, อนุสรณ์ คุณหญิงเจือ นครราชเสนี