IT New Update /เบราว์เซอร์ใหม่ติดอาวุธ

         โปรแกรมเว็บเบราว์เซอร์พร้อมใจกันติดเครื่องมือเพื่อให้ชาวเน็ตป้องกันตัวเองจากนักโฆษณาออนไลน์ ที่ใช้วิธีลักลอสอดแนม สะสม และติดตามข้อมูลการใช้งานอินเทอร์เน็ต ก่อนจะเสนอโฆษณาเพื่อให้ตรงกลุ่มเป้าหมายที่เลือกไว้     เป็นไตามนโยบายป้องกันการตามรอยของชาวออนไลน์ที่ทางการสหรัฐฯประกาศไว้เมื่อปลายปี 2010 ที่ผ่านมา
       
       เว็บเบราว์เซอร์คือโปรแกรมเปิดเว็บไซต์ที่ชาวออนไลน์ทุกคนต้องใช้เป็นประตูเพื่อเข้าสู่โลกออนไลน์ โดยอเล็กซ์ ฟาวเลอร์ ประธานฝ่ายเทคโนโลยีรักษาความปลอดภัยของมอสซิลา (Mozilla) ผู้สร้างไฟร์ฟ็อกซ์ (Firefox) เบราว์เซอร์ยอดนิยมอันดับ 2 ของโลก ให้ข้อมูลว่าเครื่องมือป้องกันการตามรอยหรือ "Do Not Track" จะเป็นส่วนแรกของนานาคุณสมบัติเพื่อรักษาความเป็นส่วนตัวของชาวออนไลน์ที่ไฟร์ฟ็อกซ์จะพัฒนาเพิ่มเติมในอนาคต   แต่ยังไม่สามารถยืนยันได้ว่าเครื่องมือป้องกันการตามรอยของไฟร์ฟ็อกซ์จะเปิดใช้งานเต็มตัวเมื่อใดในขณะนี้ แม้ข่าวลือจะระบุว่าไฟร์ฟ็อกซ์จะดำเนินการเสร็จในครึ่งแรกของปี 2011
       
       สำหรับกูเกิลโครม (Google Chrome) ผู้ใช้เบราว์เซอร์จากกูเกิลสามารถดาวน์โหลดคุณสมบัติเพิ่มเติมเพื่อปิดกั้นนักโฆษณาได้แล้วในขณะนี้ แต่ยังจำกัดเฉพาะเครือข่ายโฆษณาออนไลน์ที่อนุญาตให้ผู้ใช้ตั้งค่าส่วนตัวเพื่อกำหนดโฆษณา       ออนไลน์ที่ต้องการได้เท่านั้น เช่น เครือข่ายของเอโอแอล (AOL), ยาฮู (Yahoo) และกูเกิล (Google) ซึ่งคาดว่าจะมีพัฒนาการเพิ่มขึ้นอีกในอนาคต
       
       ไม่เพียงเบราว์เซอร์น้องใหม่ แต่พี่ใหญ่อย่างไออี (Internet Explorer) เบราว์เซอร์จากไมโครซอฟท์ซึ่งชาวออนไลน์ทั่วโลกใช้งานมากที่สุดในขณะนี้ ก็ถูกยืนยันว่าจะมีเครื่องมือป้องกันการตามรอยมาให้บริการในเวอร์ชันหน้า (IE9) ด้วย โดยจุดต่างคือเครื่องมือในไฟร์ฟ็อกซ์และโครมจะทำงานโดยอัตโนมัติ แต่ในไออี 9 ชาวออนไลน์จะสามารถกำหนดชื่อหรือค้นหาเว็บไซต์ที่ต้องการปิดกั้นได้เอง
       
       การติดเครื่องมือป้องกันการตามรอยในเว็บเบราว์เซอร์เหล่านี้เกิดขึ้นเพราะนโยบาย "Do Not Track" ที่คณะกรรมการการค้าสหรัฐฯ หรือ FTC เสนอไว้ จุดประสงค์คือเพื่อหาทางออกให้ผู้บริโภคอเมริกันสามารถปกป้องตัวเองให้พ้นจากการตามรอย ซึ่งนักการตลาดส่วนใหญ่ในปัจจุบันมักใช้การรวบรวมข้อมูลการใช้งานอินเทอร์เน็ต ทั้งข้อมูลประวัติการเข้าเว็บไซต์ การคลิกลิงก์ คำที่ค้นหาบ่อย และการซื้อสินค้าออนไลน์ มาเป็นข้อมูลในการกำหนดกลุ่มเป้าหมาย ก่อนจะนำเสนอโฆษณาออนไลน์โดยไม่สอบถามผู้บริโภคว่าต้องการหรือไม่
       
       จุดนี้ทำให้กรมพาณิชย์สหรัฐฯออกมาประกาศเมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา เพื่อเรียกร้องให้มีการกำหนดแนวทางดำเนินการที่ชัดเจนเพื่อให้นักโฆษณาออนไลน์ชี้แจงแก่ผู้บริโภคว่าได้ลงมือเก็บข้อมูลการใช้งานใดไปและมีแผนจะนำไปใช้งานอะไร โดยควรเปิดทางเลือกให้ผู้บริโภคสามารถปิดการเก็บข้อมูลได้ รวมถึงการเลือกไม่อนุญาตให้เก็บข้อมูลบางส่วนหรือทั้งหมดได้ ซึ่งบริษัทที่ต้องการเก็บข้อมูล ก็จะต้องดำเนินการอย่างปลอดภัยด้วย
       
       สิ่งที่เกิดขึ้นถือเป็นการยกระดับความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้อินเทอร์เน็ต แต่ก็เป็นความหวาดหวั่นของวงการโฆษณาออนไลน์ ซึ่งคาดว่าจะสูญเสียรายได้มหาศาลจากการปิดกั้นที่เกิดขึ้น

ขอขอบคุณ ASTV ผู้จัดการ

ที่มา http://www.manager.co.th/cyberbiz/ViewNews.aspx?NewsID=9540000010992



ปรับปรุงข้อมูล 27/1/2554 0:00:00
, จำนวนการเข้าดู 372